มดลูกหย่อนคืออะไร เกิดจากอะไร ใครมีความเสี่ยงบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาให้ พร้อมไขข้อสงสัยว่าหากคุณมีอาการมดลูกหย่อนมีลูกได้ไหม และข้อมูลควรรู้อื่น ๆ
อาการมดลูกหย่อน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงที่เคยคลอดบุตรหรือหมดประจำเดือนแล้ว แต่อาการมดลูกหย่อนเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร รวมถึงคนที่มีอาการมดลูกหย่อนจะสามารถมีลูกได้หรือไม่ บทความนี้จะมาตอบให้ครบพร้อมวิธีการรักษา ติดตามได้เลย
มดลูกหย่อนคืออะไร?
มดลูกหย่อน (Prolapsed Uterus) คือการที่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกราน ที่ทำหน้าที่ยึดมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งปกติเกิดอ่อนแอลง ทำให้มดลูกหย่อนตัวและไปอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าปกติ หรือลงไปอยู่ในบริเวณช่องคลอด โดยภาวะมดลูกหย่อนนั้นมีความรุนแรงหลายระดับด้วยกัน
มดลูกหย่อนเกิดจากอะไร?
ภาวะมดลูกหย่อนเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ และพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้หญิงที่มีลูกหลายคน โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากความเสียหายของมดลูก รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานจากการคลอดบุตรตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดได้จากอายุที่มากขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณที่ยึดมดลูกไว้จะอ่อนแอลงไปตามอายุ
อาการของมดลูกหย่อน
เมื่อมดลูกหย่อนตัวลง จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้ได้
- รู้สึกหน่วงในอุ้งเชิงกราน
เกิดความรู้สึกหน่วง ๆ บริเวณเชิงกราน เนื่องจากมดลูกที่หย่อนจะไปกดทับอวัยวะอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน โดยมักจะรู้สึกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ ถ่วงอยู่ ทำให้รู้สึกอึดอัด และไม่สบายตัว
- ปวดอุ้งเชิงกรานและหลังส่วนล่าง
นอกจากความรู้สึกหน่วงแล้ว ยังอาจมีอาการปวดอุ้งเชิงกรานและหลังล่างได้ด้วย เนื่องจากมดลูกที่หย่อนลงมาจะดึงรั้งเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อบริเวณเชิงกราน รวมถึงหลังส่วนล่างจนรู้สึกปวดตื้อ ๆ หรือหน่วง ๆ ซึ่งมักปวดมากขึ้นเมื่อยืน เดิน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
- รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
อีกหนึ่งอาการที่บ่งบอกถึงภาวะมดลูกหย่อนก็คือ การรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากมดลูกที่หย่อนตัวลงมาจะดันผนังช่องคลอดทำให้รู้สึกเจ็บ หรือไม่สบายตัวเหมือนมีอะไรมาขวางบริเวณช่องคลอดอยู่
- ท้องผูก
อาการท้องผูก เป็นอีกหนึ่งอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะมดลูกหย่อนได้ เนื่องจากมดลูกที่หย่อนลงมาจะไปกดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้ยากต่อการขับถ่าย และทำให้รู้สึกอึดอัดท้อง
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อย
การที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ มีปัสสาวะเล็ด หรือปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ก็ถือเป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกว่ามดลูกมีการหย่อนตัวลงมาเช่นกัน โดยอาการนี้จะเกิดจากการที่มดลูกหย่อนตัวลงมากดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย และอาจมีปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม หรือต้องออกแรงยกของหนัก
- มดลูกหย่อนเข้าไปในช่องคลอด
ในกรณีที่มดลูกมีการหย่อนตัวอย่างรุนแรง อาจทำให้มดลูกหย่อนเข้าไปในช่องคลอด และโผล่ออกมาจากช่องคลอดได้ ซึ่งจะรู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้อนูนออกมา อีกทั้งยังรู้สึกเจ็บ แสบ และอาจมีแผลบริเวณช่องคลอดได้ด้วย
มดลูกหย่อนมีลูกได้ไหม?
ผู้ที่มีปัญหามดลูกหย่อนสามารถท้องและมีลูกได้ เนื่องจากมดลูกที่หย่อนตัวจะไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ แต่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น การคลอดยาก ภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด และภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
ภาวะมดลูกหย่อนมีวิธีรักษายังไง?
เมื่อเกิดภาวะมดลูกหย่อน แพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาตามความรุนแรงของการหย่อนตัวของมดลูก ดังนี้
- การรักษาแบบประคับประคอง
- การลดน้ำหนัก จะช่วยลดแรงกดทับบริเวณอุ้งเชิงกรานได้
- การให้ผู้ป่วยฝึกใช้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เช่น การขมิบช่องคลอด จะช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยเฉพาะควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการเบ่งขณะขับถ่าย
- การให้ยาแก้ปวด ยาฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาในกรณีที่มีการติดเชื้อ
- การรักษาด้วยห่วงพยุงช่องคลอด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ซิลิโคนหรือพลาสติกที่แพทย์จะใส่เข้าไปในช่องคลอด เพื่อช่วยพยุงมดลูกไม่ให้หย่อนลง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง
- การผ่าตัด ในกรณีที่มดลูกมีการหย่อนตัวอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นวิธีการรักษาแบบถาวร โดยมีรูปแบบการผ่าตัดหลายวิธี เช่น การเย็บซ่อมผนังช่องคลอด การตัดมดลูก และการผ่าตัดผ่านกล้อง
หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการมดลูกหย่อน ต้องหมั่นสังเกตอาการ ว่ารู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณอุ้งเชิงกราน ปวดหลังล่าง รู้สึกเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ สามารถมาปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีและป้องกันไม่ให้มดลูกหย่อนตัวรุนแรง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center เบอร์ 02-793-5000