มาหาคำตอบกันว่า โรคกระดูกคอเสื่อมมีอาการอย่างไร เกิดจากอะไร อันตรายไหม รวมถึงควรมีแนวทางป้องกันและวิธีรักษาอาการโรคกระดูกคอเสื่อมอย่างไรบ้าง?
ใครที่มีอาการปวดต้นคอที่ปวดร้าวลงแขนจนลุกลามไปถึงข้อมือและนิ้วมือ หรือทำให้ข้อมือเกร็งบ่อย ๆ อาจเป็นผลมาจากโรคกระดูกคอเสื่อม โดยในบทความนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับโรคกระดูกคอเสื่อม ว่ามีอาการอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร ไปจนถึงวิธีป้องกันและรักษา ติดตามกันได้เลย
โรคกระดูกคอเสื่อมเกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูก ที่อาจส่งผลทำให้เกิดการหนาตัวของเส้นเอ็นหรือภาวะกระดูกงอก ซึ่งจะทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังแคบลง จนเกิดเป็นภาวะกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดคอร้าวลงแขนและหลัง ที่เราต้องพบเจอ
อาการของกระดูกคอเสื่อม
อาการของกระดูกคอเสื่อมแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
- กลุ่มอาการปวดต้นคอ: อาการปวดต้นคอ ที่อาจปวดลุกลามไปยังจุดต่าง ๆ เช่น บริเวณท้ายทอย สะบักด้านหลัง และช่วงหัวไหล่ด้านหลัง โดยอาการในกลุ่มนี้จะเป็นผลมาจากภาวะข้อกระดูกคอ หรือหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
- กลุ่มอาการอ่อนแรงของแขน มือ และนิ้วมือ: เกิดจากกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทคอ ทำให้ปวดตามแนวเส้นประสาท จนเกิดอาการชาและอ่อนแรง ปวดร้าวจากคอลงไปที่แขนหรือลามไปถึงปลายนิ้วมือ
- กลุ่มอาการชาตามแขน มือ และนิ้วมือ: เกิดจากกระดูกคอเสื่อมกดทับไขสันหลัง เป็นกลุ่มที่อันตรายมากที่สุด เพราะอาจทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป เช่น เดินทรงตัวไม่ได้ เขียนหนังสือลำบาก หรืออาจควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
สาเหตุของอาการกระดูกคอเสื่อม
โรคกระดูกคอเสื่อมไม่ได้พบมากในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังพบได้กับคนวัยทำงาน เพราะนอกจากเรื่องอายุที่มากขึ้นแล้ว โรคนี้ยังเกิดได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราอีกด้วย
กระดูกคอเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น
อายุที่มากขึ้นทำให้กระดูกมีความหนาแน่นและแข็งแรงน้อยลง จึงเสื่อมสภาพได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้หมอนรองกระดูกเสียความยืดหยุ่นไป
อุบัติเหตุ
การเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่กระทบต่อบริเวณคอ ไม่ว่าจะเป็น การล้ม การถูกกระแทกด้วยของแข็ง หรืออุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนต่าง ๆ ก็สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บที่นำไปสู่อาการปวด การอักเสบเรื้อรัง และกระดูกคอเสื่อมได้
ใช้งานกระดูกคอไม่ถูกต้อง
การใช้งานกระดูกคออย่างไม่ถูกต้อง เช่น การอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ หรือพฤติกรรมการก้มคอหรือเงยคอนานเกินไป อย่างการก้มหน้าเพื่อเล่นโทรศัพท์หรือใช้คอมพิวเตอร์ ก็อาจก่อให้เกิดภาวะกระดูกคอเสื่อมได้
พฤติกรรมส่วนบุคคลที่ชอบสะบัดต้นคอบ่อย ๆ
พฤติกรรมที่ชอบสะบัดต้นคอบ่อย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมได้ เพราะจะทำให้เกิดแรงกระแทกที่กระดูกคอ หมอนรองกระดูกคอ รวมถึงกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณนั้น
การเล่นกีฬาบางประเภท
กีฬาบางประเภท เช่น ฟุตบอล รักบี้ ตะกร้อ และอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการล้มหรือกระแทกสูง ก็เป็นสาเหตุของโรคกระดูกคอเสื่อมได้เช่นกัน
การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้ เนื่องจากในบุหรี่มีสารนิโคตินที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูกสันหลัง อีกทั้งยังกระตุ้นการอักเสบเรื้อรังอีกด้วย
โรคประจำตัวที่ส่งผลต่อข้อกระดูกต้นคอ
อีกหนึ่งสาเหตุของโรคกระดูกคอเสื่อมก็คือ โรคประจำตัวบางโรคที่ส่งผลต่อข้อกระดูก เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเกาต์ เพราะโรคเหล่านี้อาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่ข้อต่อกระดูกต้นคอได้
วิธีป้องกันกระดูกคอเสื่อม
- หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 30-60 นาที
- ไม่ว่าท่าเดินหรือท่ายืน ศีรษะควรตั้งตรง ไม่ก้ม หรือเงยศีรษะจนเกินไป
- ไม่ควรโน้มศีรษะลงขณะอ่านหนังสือ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานหนักกว่าปกติ ควรยกหนังสือให้ตั้งขึ้นในระดับสายตา โดยอาจวางตั้งบนกองหนังสือ หรือกล่องก็ได้
- ปรับศีรษะขณะใช้งานคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยควรให้หน้าจออยู่ในระดับสายตา ไม่อยู่ต่ำ หรือสูงเกินไปเพราะจะทำให้ต้องก้ม หรือเงยหน้าเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการนั่งบางท่า เช่น การนั่งพับเพียบ การนั่งเอียง ๆ เพราะจะทำให้ต้องเอี้ยวคอมากกว่าปกติ
- ลดการเล่นโทรศัพท์มือถือติดต่อกันนาน ๆ เพราะจะทำให้ต้องก้มหน้าเป็นเวลานาน
- เวลาขับรถควรเคลื่อนลำตัวให้ใกล้พวงมาลัย ไม่ห่างจนเกินไป เพื่อป้องกันการยื่นคอออกมาจากตัว หรือชะเง้อคอ
- โรคกระดูกคอเสื่อมสามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกาย เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อคอ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันโรคกระดูกคอเสื่อมได้แล้ว ยังจะช่วยลดอาการปวดคอได้ด้วย
วิธีรักษากระดูกคอเสื่อม
การรักษาเพื่อประคับประคองโดยไม่ต้องผ่าตัด
- ให้ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ
- ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ
- การประคบร้อน
- การใช้เครื่องอัลตราซาวนด์
- การใช้คลื่นช็อกเวฟ
- การทำกายภาพบำบัด
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
สำหรับวิธีการผ่าตัด จะใช้ก็ต่อเมื่อรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วไม่เห็นผล หรือเมื่อมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงร่วมด้วย เช่น
- อาการปวดเรื้อรัง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้นด้วยการใช้ยา หรือกายภาพบำบัด
- อาการปวดแย่ลง หรือมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่รุนแรงขึ้น
- อาการกดทับไขสันหลัง (Myelopathy) ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้
เมื่อได้รู้แล้วว่า สาเหตุของโรคกระดูกคอเสื่อมเกิดจากอะไรบ้าง รวมถึงมีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไร หากใครที่สังเกตตนเอง และพบว่ามีอาการปวดต้นคอเรื้อรังอยู่บ่อย ๆ รวมถึงมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่เข้าข่าย ควรเข้ามาปรึกษาและตรวจอย่างละเอียดได้ที่ แผนกกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน Call Center ได้ที่เบอร์ 02-793-5000