ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เรื่องใหญ่ ปล่อยไว้ชีวิตเสี่ยง !

26 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือมีอาการผิดปกติ เช่น พบก้อนในช่องท้อง ขับถ่ายมีเลือดปน น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เสี่ยงหลายโรค ควรรีบพบแพทย์ก่อนอาการลุกลาม



ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic Pelvic Pain) เป็นภาวะที่อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานมีความผิดปกติ เช่น มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ตำแหน่งที่ปวดจะอยู่ต่ำกว่าสะดือลงมา และมักปวดติดต่อกันนานถึง 6 เดือนหรือนานกว่านั้น มีทั้งอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ และปวดแบบสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน โดยส่วนมากจะเกิดกับผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงหลายโรค ซึ่งเราจะมาพูดถึงกันในบทความนี้

 

โรคที่ก่อให้เกิดภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังในสตรี

อาการปวดท้องน้อยแบบเรื้อรังนั้น แม้ว่ามองผิวเผินจะมีอาการคล้ายกัน คือปวดท้องบริเวณต่ำกว่าสะดือลงมา ทั้งปวดอย่างต่อเนื่อง ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ได้แก่ มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ปากมดลูก ช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และกล้ามเนื้อ ในเบื้องต้นภาวะปวดท้องน้อยในสตรีมักเกิดจากโรคเหล่านี้

 

โรคทางนรีเวช

เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธ์ุและอวัยวะเพศของผู้หญิง ซึ่งโรคทางนรีเวชที่ก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ได้แก่ โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน มีเนื้องอกบริเวณปีกมดลูก ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบและติดเชื้อ

 

โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ

ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ก็เป็นสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยได้เช่นกัน เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กลุ่มอาการโรคปวดกระเพาะปัสสาวะ สำหรับกลุ่มโรคดังกล่าว มักทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด ด้วย

 

โรคทางระบบทางเดินอาหาร

หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โดยโรคที่มักมีอาการปวดท้องน้อยแบบเรื้อรัง ร่วมกับท้องผูกหรือท้องเสีย ได้แก่ โรคลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ

 

ความผิดปกติบริเวณกระดูกและกล้ามเนื้อ

ความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณท้องน้อยจากการเคลื่อนไหวผิดท่า โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรืออาการปวดผนังหน้าท้อง ส่งผลให้เกิดความระคายเคืองในกล้ามเนื้อและเส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน นำไปสู่การปวดท้องน้อยได้

 

ภาวะจิตสังคมและประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ

การถูกทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ หรือประสบการณ์การตรวจภายในที่ไม่ดี รวมทั้งความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้าจากสาเหตุอื่น ๆ ล้วนส่งผลต่อจิตใจในระยะยาว ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้เช่นเดียวกัน

 

ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือมีอาการแบบนี้ ต้องรีบพบแพทย์

เพราะสุขภาพภายในของคุณผู้หญิงมีความซับซ้อนกว่าที่คิด ดังนั้น นอกจากปวดท้องน้อยเรื้อรังแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ที่ควรระมัดระวังร่วมด้วย ดังนี้

 

  • คลำพบก้อนในช่องท้อง ทั้งในอุ้งเชิงกรานหรือลำไส้
  • อุจจาระหรือปัสสาวะแล้วมีเลือดปน
  • ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสียเรื้อรัง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ตกขาวมีลักษณะผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณมากกว่าปกติ มีกลิ่น หรือสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม
  • ปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว
  • มีเลือดออกหรือรู้สึกเจ็บหลังมีเพศสัมพันธ์

 

ความผิดปกติที่มดลูก สาเหตุหนึ่งของภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง

 

วิธีตรวจวินิจฉัยโรคจากภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง

ในการตรวจวินิจฉัยโรคจากภาวะปวดท้องน้อยแบบเรื้อรังนั้น เบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงสอบถามปัญหาสุขภาพในอดีต และเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยด้วยการตรวจภายใน การตรวจสารคัดหลั่งในช่องคลอด การตรวจปัสสาวะ การอัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างเพื่อตรวจความผิดปกติของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และการทำ CT Scan โดยปัจจัยที่มักใช้พิจารณาหาสาเหตุโรค ได้แก่

 

  • ตำแหน่งที่ปวด โดยหากเป็นอาการปวดจากกล้ามเนื้อ จะสามารถระบุจุดที่ปวดได้ชัดเจน แต่หากเป็นอาการผิดปกติของอวัยวะภายใน มักไม่สามารถระบุตำแหน่งได้
  • ระยะเวลาที่ปวด ปวดมานานแค่ไหน ปวดถี่หรือไม่
  • สิ่งที่กระตุ้นอาการปวด เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การเคลื่อนไหว
  • อาการอื่นที่สัมพันธ์กับอาการปวด เช่น การมีประจำเดือน การรับประทานอาหาร การขับถ่าย

 

ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง ?

สำหรับการรักษาผู้ป่วยภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง เมื่อวินิจฉัยเจอสาเหตุที่แท้จริงแล้ว แพทย์จะใช้วิธีรักษาที่สอดคล้องกับอาการและสาเหตุ

โดยเบื้องต้นมักใช้ 4 วิธีดังต่อไปนี้

 

  • การใช้ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อ หรือหากเป็นอาการปวดจากเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจและความเครียด ก็อาจพิจารณาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อร่วมวินิจฉัยและให้การรักษาเพิ่มเติม
  • การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ช่วยแก้อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
  • การผ่าตัด กรณีที่พบเนื้องอกบริเวณอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน
  • การใช้หัตถการอื่น ๆ เช่น การฉีดยา การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไขสันหลัง การฝังเข็ม และการฝึกขับถ่าย

 

มีภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง ต้องการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง สามารถเข้ามารับคำปรึกษาและรับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญการได้ที่แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา เลือกสรรเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับสากล พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง นัดหมายเข้าพบแพทย์ผู้ชำนาญการหรือ

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-793-5000

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ