ศูนย์รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
พร้อมให้การดูแล โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ
รู้จักภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น
ที่ศูนย์รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา เราพร้อมให้การดูแลและรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างครอบคลุม โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด ที่ครบครันด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หรือมีความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจทุกชนิด ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจให้กลับมาสมบูรณ์มากที่สุด
ชนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจประมาณ 100 – 150 ครั้งต่อนาที
- หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว “หัวใจปกติ” จะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 60 -100 ครั้งต่อนาที
สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยการที่หัวใจจะเต้นเร็วหรือช้าลงขึ้นกับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ประวัติสุขภาพ และปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยแต่ละราย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่
- ความผิดปกติแต่กำเนิดหรือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ
- ความผิดปกติของร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ
- ยาและสารบางชนิด เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน คาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม
- ความเครียดและความวิตกกังวล
อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา โดยมักพบภาวะนี้จากการตรวจสุขภาพหรือเมื่อป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปรากฏให้สังเกตได้ เช่น
- วิงเวียน
- หน้ามืด
- ตาลาย
- ใจสั่นบริเวณหน้าอก
|
- หายใจขัด
- เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก
- เป็นลม หมดสติ
|
การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การซักประวัติอย่างละเอียด เช่น การดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม โรคประจำตัวต่างๆ (เช่น เส้นเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือภาวะไทรอยด์)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ในขณะที่มีอาการ
- การติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจไว้ที่ตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 24 หรือ 48 ชั่วโมง (Holter monitoring test) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อยแต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย (exercise stress test; EST)
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram)
- การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (cardiac electrophysiology study)
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะดำเนินการโดยแพทย์เฉพาะทาง ที่จะเริ่มจากการพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในบางชนิดที่ต้องทำการรักษาจะมีทางเลือกในการรักษา ดังนี้
- การใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ ถึงแม้จะไม่ช่วยให้หายขาด แต่ก็ลดความถี่และความรุนแรงของอาการได้ และมักพบว่าอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหลายชนิดตอบสนองดีต่อการใช้ยา
- การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) เป็นการฝังเครื่องมือเล็กๆ ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณกระดูกไหปลาร้า เพื่อตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ และสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่ กำหนด
- การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ (Cardioversion) ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป แพทย์จะใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งภายนอกร่างกายซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแปะ ที่หน้าอกของผู้ป่วยเพื่อปรับจังหวะการเต้นของหัวใจใหม่
- การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ (Ablation Therapy) วิธีนี้จะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุซึ่งอาจช่วยให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดหายขาดได้ โดยเป็นวิธีการรักษาที่ต่อเนื่องจากการตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ เมื่อสอดสายสวนไปยังตำแหน่งที่เชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุของความผิดปกติ แพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเป็นจุดเล็ก ๆ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นสาเหตุของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้น
- การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator) เป็นการฝังเครื่องมือคล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ (Ventricular Fibrillation) ซึ่งอาจอันตรายต่อชีวิต โดยเมื่อหัวใจเต้นช้า เครื่องมือจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นหัวใจ แต่เมื่อหัวใจเต้นเร็ว เครื่องมือจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นปกติทันที
การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่หากมีการดูแลผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะสามารถลดโอกาสเกิดให้น้อยลงได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การดื่มกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ
แผนกอายุรกรรมหัวใจและแผนกศัลยกรรมหัวใจ ประกอบไปด้วยศูนย์เฉพาะทางที่คอยดูแลสุขภาพ หัวใจคุณ…
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายเพื่อเข้ารับการตรวจกับศูนย์รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา โทร. 02-793-5000