เมื่อ แพ้ไรฝุ่น… ต้องทำอย่างไร?

8 มี.ค. 2564 | เขียนโดย โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

เมื่อ แพ้ไรฝุ่น... ต้องทำอย่างไร? ในผู้ที่ตรวจพบว่าแพ้ไรฝุ่นร่วมกับมีอาการภูมิแพ้ แนะนำให้ลดการสัมผัสไรฝุ่น โดยการดูแลสิ่งแวดล้อมในบ้านดังนี้



ถ้าแพ้ไรฝุ่นแล้วต้องทำอย่างไร?

ในผู้ที่ตรวจพบว่าแพ้ไรฝุ่นร่วมกับมีอาการภูมิแพ้ แนะนำให้ลดการสัมผัสไรฝุ่น โดยการดูแลสิ่งแวดล้อมในบ้านดังนี้

  1. ซักผ้าปูที่นอนทุกสัปดาห์ด้วยน้ำร้อน 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที เพื่อฆ่าไรฝุ่น
  2. ใช้ผ้ากันไรฝุ่นคลุมที่นอนและหมอน
  3. มีการระบายอากาศในห้องนอนเพื่อลดความชื้นอย่างน้อย ควรเปิดประตูหน้าต่างห้องนอนวันละ 1 ชั่วโมง หรือรักษาระดับความชื้นสัมพัทธ์ในห้องไว้ที่ 50%
  4. เลือกใช้เครื่องดูดฝุ่นชนิดที่มี HEPA filter
  5. ทำความสะอาดบ้านและห้องนอนด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ
  6. ไม่ควรใช้พรมและเฟอร์นิเจอร์ที่หุ้มด้วยผ้าในห้องนอน
  7. ไม่เก็บตุ๊กตาขนฟูไว้ในห้องนอน
  8. ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงไว้ในห้องนอน
  9. นำที่นอน หมอนและพรม ตากแดดจัดๆ ประมาณ 3 ชั่วโมงขึ้นไปจะช่วยฆ่าตัวไรฝุ่นได้

 

หลังจากปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมลดการสัมผัสไรฝุ่นแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาด้วยยา ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแก้แพ้และถ้าอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกร่วมด้วยตามความเหมาะสม

ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ไรฝุ่น

สำหรับผู้ป่วยโพรงจมูกอักเสบหรือหอบหืดที่เกิดจากการแพ้ไรฝุ่นที่มีอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากที่ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมร่วมกับการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นมีทางเลือกโดยการรักษาด้วยการให้วัคซีนภูมิแพ้ซึ่งเป็นการรักษาที่ตรงจุดเพราะสามารถปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถต้านทานไรฝุ่นได้และอาการป่วยดีขึ้น

 

การให้วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นมีทั้งชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนังและชนิดรับประทานโดยอมไว้ใต้ลิ้น ทั้งสองวิธีมีความแตกต่างกันบ้าง ดังนี้

  • วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดฉีดใต้ผิวหนัง จะใช้สารสกัดจากไรฝุ่นฉีดเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณน้อยๆอย่างสม่ำเสมอ โดยระยะแรกฉีดสัปดาห์ละครั้งและค่อยๆเพิ่มปริมาณวัคซีนเรื่อยๆเป็นระยะเวลา 5-6 เดือน จนได้ขนาดที่ผู้ป่วยรับได้และไม่เกิดอาการแพ้แล้วจึงเพิ่มระยะเวลาการฉีดวัคซีนให้ห่างออกจนเหลือเดือนละครั้งไปเป็นระยะเวลา 3-5 ปี จึงพิจารณาหยุดฉีดยา ในระหว่างการฉีดวัคซีนอาจมีอาการแพ้ยาได้ เช่นเดียวกับการฉีดยาอื่นๆ เช่น ลมพิษ หอบหืด กล่องเสียงบวม ความดันโลหิตต่ำ   ช็อกได้ ดังนั้นการรักษาชนิดนี้ ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้เท่านั้น
  • วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดอมใต้ลิ้น เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในผู้ที่แพ้ไรฝุ่น เพราะเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน โดยอมไว้ใต้ลิ้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบการฉีดยาและมีความสะดวกไม่ต้องมาพบแพทย์บ่อย เพราะวัคซีนสามารถรับประทานเองที่บ้านได้โดยที่ไม่พบอาการแพ้ชนิดรุนแรง

 

การรักษาอาการแพ้ไรฝุ่นด้วยวัคซีน เป็นการรักษาที่ต้องการความร่วมมือจากผู้ป่วยในการมารับวัคซีนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีจนผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่อไรฝุ่นสามารถลดการใช้ยาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พบแพทย์เฉพาะทาง ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์

โรงพยาบาลสินแพทย์ กาญจนบุรี

SHARE