โรคหอบ (Asthma)

>30 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พญ.ปิยะพร ชื่นอิ่ม กุมารแพทย์โรคทางเดินหายใจเด็ก

รู้จักโรคหอบ (Asthma) พร้อมวิธีรักษาอาการหอบในเด็ก

 

หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินอาการหอบหายใจของลูกน้อย จนเกิดความกังวลใจ เพราะอาการเหล่านี้ไม่ใช่เพียงความเหนื่อยล้าทั่วไป แต่เป็นสัญญาณของโรคหอบหืดในเด็กที่ทำให้ลูกน้อยหายใจลำบาก ซึ่งหากปล่อยเอาไว้อาการอาจรุนแรงจนเกิดอันตรายได้

 

โรคหอบหืดในเด็ก คืออะไร?

‘หอบ’ เป็นโรคเรื้อรังของปอดและทางเดินหายใจส่วนล่าง ที่เกิดจากการอักเสบของหลอดลม ทำให้เกิดอาการบวมและตีบแคบของหลอดลม จนทำให้มีเสมหะมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ไอ หายใจมีเสียงวี๊ด โดยเฉพาะเวลากลางคืนหรือเช้ามืด พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยพบว่าในประเทศไทยมีอัตราชุกของผู้ป่วยหอบในเด็กอยู่ระหว่าง 5.5-13.6% ของประชากรเด็กทั้งหมด ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น สารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อของทางเดินหายใจ เป็นต้น

 

สำหรับในการวินิจฉัยโรค แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งในส่วนผู้ป่วยเด็กโต หรือผู้ใหญ่ แพทย์จะส่งตรวจสมรรถภาพของปอด (Pulmonary Function Test) โดยทำก่อนและหลังพ่นยาขยายหลอดลม เพื่อดูการตอบสนองของปอดต่อยาขยายหลอดลมที่ได้รับการรักษาไป

 

วิธีรักษาอาการหอบในเด็ก

โรคหอบหืดในเด็กอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการหอบในเด็กให้ไม่รุนแรงและเป็นถี่ โดยรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาโรคหอบ มี 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

 

  1. ยารักษาตามอาการ ใช้เพื่อบรรเทาอาการเด็กหอบเป็นครั้งคราว เวลามีอาการกำเริบ ได้แก่ ยาขยายหลอดลม และยารับประทานกลุ่มสเตียรอยด์
  2. ยารักษาระยะยาว เพื่อควบคุมและป้องกันอาการของโรค ซึ่งแพทย์จะให้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบของโรคหอบบ่อยครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการอักเสบของหลอดลมและป้องกันการกำเริบของโรค ได้แก่ ยาพ่นกลุ่มสเตียรอยด์, ยารับประทานกลุ่ม Leukotriene modifier, ยาพ่นชนิดผสมระหว่างยากลุ่มสเตียรอยด์ และยาขยายหลอดลมออกฤทธิ์ยาว ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีอาการหอบกำเริบจากสารก่อภูมิแพ้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้แพ้หรือสเปรย์พ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ร่วมในการรักษาด้วย

 

โดยคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถป้องกันและรักษาอาการหอบในเด็กได้ด้วยการควบคุมสภาพแวดล้อมรอบตัวของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สารก่อภูมิแพ้และปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่จะทำให้ลูกน้อยเกิดอาการหอบหืด รวมถึงดูแลสุขภาพให้แข็งแรง อย่างการให้เด็ก ๆ เล่นกีฬา หรือชวนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ปอดแข็งแรงและลดอาการหอบหืดได้

นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรพาเด็ก ๆ ที่มีอาการหอบ ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการหอบหืดเฉียบพลันก่อน จากนั้นแพทย์จะนัดหมายเพื่อติดตามอาการและวางแผนวิธีรักษาอาการหอบในระยะยาวต่อไป

 

โรคหอบหืดในเด็กส่งผลอย่างไรในระยะยาว

ผู้ป่วยเด็กส่วนหนึ่งที่มีอาการของโรคหอบหืดในเด็กจากภาวะที่หลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ หลังการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในทางเดินหายใจ (Airway hyperactivity) จะมีอาการดีขึ้นและหายไปเมื่อโตขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยโรคหอบ (Asthma) จะยังคงมีอาการอยู่ตลอดชีวิต แต่การพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและเข้ารับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดความถี่ของการเกิดอาการ รวมถึงสามารถลดภาวะแทรกซ้อน ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้

 

การป้องกันเมื่อเกิดอาการหอบในเด็ก

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบควรได้รับคำแนะนำและแผนการดูแลรักษา (Asthma action plan) จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งแพทย์จะกำหนดแนวทางการรักษาตามความรุนแรงของผู้ป่วย โดยแผนการดูแลรักษานี้จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นที่บ้านหรือในกรณีมีอาการหอบฉุกเฉินได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรใช้ยาตามแพทย์สั่ง และตรวจติดตามกับแพทย์เป็นระยะ รวมทั้งรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่รุนแรง

 

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ
(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

 

หากต้องการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับโรคหอบหืดในเด็ก
หรือเพื่อสอบถามข้อมูลในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการรักษา
รวมถึงค่ารักษาพยาบาลหรือนัดหมายแพทย์

ติดต่อได้ที่ Call Center 02-793-5000 ตลอด 24 ชั่วโมง

SHARE