ทำไมลูกเดินเท้าบิด

>15 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย นพ.ธรรมนูญ ศรีสอ้าน เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อในเด็ก

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเฝ้ารอคอยวันที่ลูกลุกขึ้นมายืนและเดิน แต่แล้วทำไมเมื่อลูกเริ่มเดินกลับมีลักษณะการเดินที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ยิ่งมีคำทักจากปู่ย่าตายาย หรือคนรอบข้างที่พบเห็นยิ่งเป็นกังวลหนักขึ้น ทำไมลูกจึงเดินปลายเท้าบิดเข้าหากัน

 

เหตุใดลูกจึงเดินเท้าบิด

เด็กส่วนใหญ่เมื่อเริมเดินจะมีปลายเท้าชี้เข้าหากัน มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละคนแตกต่างกันไปตามธรรมชาติ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการพัฒนาการของกระดูกขาซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ต่อเนื่องมาจนกระทั่งหลังคลอด กล่าวคือจะมีการหมุนของกระดูกต้นขา และกระดูกแข้ง (ขาท่อนล่าง) เข้าทางด้านใน ส่งผลให้ปลายเท้าหมุนชี้เข้าหากันเวลาเดิน และจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเดินเร็วๆ หรือวิ่ง

 

ทำไมตอนยังไม่เดิน..ไม่เป็น

จากท่าที่ทารกต้องขดตัวอยู่ในมดลูกของคุณแม่ส่งผลให้เยื่อหุ้มข้อและเส้นเอ็นด้านหลังของข้อสะโพกหดสั้นและรั้งข้อสะโพกไว้ไม่ให้หมุนเข้าด้านในทำให้ไม่เห็นการหมุนเข้าหากันของเท้าในช่วง 1 ขวบปีแรก หลังจากนั้นเมื่อเนื้อเยื่อด้านหลังข้อสะโพกหย่อนลงซึ่งเป็นช่วงที่เด็กจะเริ่มเดินพอดีก็จะเห็นลักษณะปลายเท้าที่หมุนเข้าหากัน หากพบว่ามีการบิดเข้าด้านในของเท้าในเด็กอายุ น้อยกว่า 1 ขวบแสดงว่ามีการบิดเข้าด้านในของปลายเท้า ควรพาเด็กไปตรวจและรับคำแนะนำจากแพทย์

 

ลูกคนแรกก็ปกติดี

โดยธรรมชาติแล้วก็จะมีความแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน แม้ว่าเด็กเกือบทั้งหมดจะมีการบิดหมุนของกระดูกขาเข้าด้านในทำให้เดินในลักษณะปลายเท้าบิดเข้าหากัน แต่ก็จะมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปในแต่ละคน จึงทำให้สังเกตไม่พบในบ้างคน

 

จะทำอย่างไรดีถ้าลูกเดินเท้าบิด

เนื่องจากการเดินเท้าบิดเข้าหากันส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากพบว่าเป็นไม่มาก เป็นเท่ากันทั้ง 2 ข้าง ไม่มีปัญหาเรื่องความล่าช้าในเรื่องพัฒนาการทางร่างกาย ก็สามารถเฝ้ารอดูการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นช้าๆ เมื่อโตขึ้น โดยการบิดหมุนเข้าในของกระดูกแข้งส่วนใหญ่จะหายไปเมื่ออายุ 4-5 ขวบ แต่ถ้าเป็นส่วนกระดูกต้นขาต้องใช้เวลานานกว่านั้นคือประมาณ 10 – 12 ขวบ แต่หากพบว่าเท้าบิดเข้าหากันตั้งแต่เกิด อาจมีสาเหตุจากเท้าส่วนหน้าบิดเข้าใน ควรจะต้องรับคำปรึกษาจากแพทย์ถึงแนวทางการรักษา หรือในกรณีมีความล่าช้าด้านพัฒนาการทางร่างกาย มีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหวของข้อต่างๆ เดินกระเผลก ตัวโยกหรือตัวเอียง หรือเป็นเพียงข้างเดียว ควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่

 

มีความจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติมหรือไม่

โดยทั่วไปการวินิจฉัยภาวะบิดหมุนของกระดูกขา หรือความผิดปกติของเท้าสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย มีจำนวนน้อยมากที่ต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เข่น การทำเอ็กซเรย์ จะทำการตรวจเมื่อมีความสงสัยตวามผิดปกติแต่กำเนิดที่บริเวณข้อสะโพก หรือทำการตรวจระบบประสาทไขสันหลังด้วยเครื่องครวจสนามแม่เหล็ก (MRI) ในรายที่สงสัยความผิดปกติของระบบประสาทเป็นต้น

 

จำเป็นต้องดัดขา หรือใส่รองเท้าพิเศษหรือไม่

การดัดขา และ การตัดรองเท้าพิเศษ ไม่มีความจำเป็นเนื่องจากไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่าจะสามารถเร่ง หรือ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามหากเป็นความสบายใจของผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่ก็มิได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด ตราบใดที่มิได้ดัดขาลูกหลานด้วยความรุนแรงจนเกิดการบาดเจ็บ หรือรองเท้าพิเศษที่ใช้ไม่ไปขัดขวางพัฒนาการหรือก่อให้เกิดปมด้อยต่อเด็ก

 

การรักษาภาวะเท้าชี้เข้าหากัน

เมื่อตัดภาวะความผิดปกติของเท้าซึ่งต้องได้รับการรักษาออก การมีปลายเท้าชี้เข้าหากันส่วนใหญ่เกิดจากการหมุนของกระดูกขาซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติและจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง โดยการหมุนของกระดูกขาท่อนล่างจะค่อยๆดีขึ้นก่อนและเป็นปกติที่อายุประมาณ 4-5 ขวบ แต่การหมุนของกระดูกต้นขาจะใช้เวลาในการปรับตัวนานกว่าคือค่อยๆดีขึ้นจนถึงอายุ 12- 14 ปี และตามที่กล่าวไว้ดังข้างต้นว่า การใช้รองเท้าหรืออุปกรณ์ใดๆ ไม่ส่งผลตอการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราจึงไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ เด็กที่เดินเท้าชี้เข้าหากันเกือบทั้งหมดจะกลับมาเป็นปกติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่การปรับตัวเรื่องการหมุนของกระดูกไม่สามารถปรับกลับไปจนเป็นปกติ ทำให้ยังมีการเดินเท้าชี้เข้าหากันแม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ย่อมต้องมีความแตกต่างทางด้านสรีระของแต่ละบุคคล ตราบใดทีความผันแปรตามธรรมชาตินี้ไม่รบกวนการใช้งานก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ เนื่องจากวิธีการรักษาวิธีเดียวที่ได้ผลคือการผ่าตัดโดยการตัดกระดูกแล้วหมุนกระดูกให้มาอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการแล้วทำการยึดด้วยโลหะดามกระดูกเหมือนที่ใช้ในการรักษาผู้ที่มีกระดูกหัก จะพิจารณาทำเมื่ออายุมากกว่า 12 ปีเฉพาะในรายที่มีปัญหาเรื่องการใช้งาน เช่น เท้าขัดกันล้มเวลาเดินหรือวิ่ง ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก หรือในรายที่มีการบิดหมุนมากจนดูน่าเกลียดรับไม่ได้ ทั้งนี้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความรุนแรงของปัญหากับผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากการผ่าตัด ภาวะดังกล่าวนี้จึงมีโอกาสน้อยมากที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข

 

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกกุมารเวช ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE