ท้องเสีย ท้องร่วง ลำไส้อักเสบ..เพลียเหลือเกิน ไม่มีแรง ทำไงดี

>20 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พญ.สุชีรา หงษ์สกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร

ท้องเสียหรือลำไส้อักเสบ คือ ภาวะที่มีการถ่ายเหลวมากกว่าเท่ากับ 3 ครั้งต่อวัน

 

อาจเป็นน้ำ และหรือมีมูก มีเลือดปนได้ ภาวะนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มักมีอาการรุนแรงได้ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ในกรณีที่มีการระบาดของเชื้อโรคบางชนิดอาจพบผู้ป่วยได้ทุกอายุ ป่วยเป็นจำนวนมากได้ บางครั้งมักได้ประวัติว่า มีเด็กที่โรงเรียนหรือคนในครอบครัว พี่ น้อง มีอาการเช่นเดียวกันกับผู้ป่วย

 

อาการที่พบ : ถ่ายอุจจาระเหลว เป็นน้ำ เนื้อเละ บางครั้งปนมูกหรือปนมูกเลือด อุจจาระเหม็นคาวหรือเหม็นเปรี้ยว มีไข้ได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำ บางครั้งมีไข้หนาวสั่น ท้องอืด ปวดท้องเป็นพักๆ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซึม ไม่มีแรง หน้ามืด จะเป็นลม เวียนศรีษะ ในเด็กมักจะซึม ไม่มีแรง กินไม่ได้ บางคนปวดท้องร้องกวน ถ่ายหลายครั้งมีก้นแดงได้ ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ตาโหล หิวน้ำบ่อย  ในกรณีที่มีภาวะขาดน้ำมากๆ อาจเกิดภาวะช็อค มีความดันโลหิตต่ำ หน้าซีด ปากซีด ปัสสาวะออกน้อย และอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ เช่น ภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติรุนแรง น้ำตาลในเลือดต่ำ ชัก ไตวายเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้

 

สาเหตุ : ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อโรค โดยเชื้อโรคเข้าไปทางปาก ไม่ว่าจะเป็นการอมมือ อมของเล่น กินอาหาร น้ำ น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าไป มักได้รับเชื้อเข้าไปก่อนมีอาการ 1-2 วัน ในเด็ก มักเป็น เชื้อไวรัส มากกว่า แบคทีเรีย

  • เชื้อไวรัสที่พบบ่อย : โรต้าไวรัส, โนโรไวรัส, อะดีโนไวรัส
  • เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย : ชิเจลลา, ซาลโมเนลลา, อีโคไล
  • เชื้ออื่นๆ : พยาธิบางชนิด, โปรโตซัว

 

การตรวจวินิจฉัยโรค: แพทย์จะทำการซักประวัติและอาการ ร่วมกับตรวจร่างกายวัดความดันโลหิต จับชีพจร เพื่อประเมินผู้ป่วย โดยเฉพาะภาวะขาดน้ำ เพื่อวางแผนการรักษาและหาสาเหตุของโรค กรณีที่ขาดน้ำรุนแรง มีภาวะช็อค จำเป็นต้องรีบให้การรักษาเร่งด่วนทันที มีการตรวจอุจจาระ ตรวจเลือดเพื่อ ดูการติดเชื้อ ดูค่าเกลือแร่ ระดับน้ำตาล และตรวจปัสสาวะ

 

ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคลำไส้อักเสบนั้น ทำได้ง่ายขึ้นมาก นั้นคือ การนำอุจจาระไปตรวจหาเชื้อที่ก่อโรค เรียกว่า เป็นการตรวจแบบรวดเร็ว ( stool rapid test ) สามารถทราบผลได้ใน 30-60 นาที ซึ่งสามารถตรวจได้ทันที ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล  แต่ถ้าเพาะเชื้อ ต้องใช้เวลา 1-3 วัน จึงจะทราบผล

  • การตรวจแบบรวดเร็วหาเชื้อไวรัส : โรต้าไวรัส, โนโรไวรัส, อะดีโนไวรัส
  • การตรวจแบบรวดเร็วหาเชื้อแบคทีเรีย : ชิเจลลา, ซาลโมเนลลา, อีโคไล

 

การรักษา :

การรักษาภาวะขาดน้ำ

เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด โดยสามารถรักษาได้ 2 วิธี

  1. กินน้ำเกลือแร่โออาเอส ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำน้อย
    • น้ำเกลือแร่โออาเอส 1 ซอง ผสมน้ำสะอาดตามสัดส่วนที่ระบุไว้
    • ใส่แก้ว ค่อยๆจิบ หรือ ใช้ช้อนตักป้อน
    • ไม่ควรดื่มรวดเดียวจนหมดเพราะจะทำให้มีอาการอาเจียนเพิ่มขึ้นได้
  2. ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ใช้ในกรณีที่มีภาวะขาดน้ำปานกลางจนถึงมากหรือมีภาวะช็อค และในกรณีที่ไม่สามารถกินน้ำเกลือแร่โออาเอสได้

 

การรักษาโดยใช้ยา

  1. ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ใช้เฉพาะในกรณีที่สงสัยติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง, มีการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เด็กเล็ก มีโรคประจำตัว
  2. ยาลดปริมาณอุจจาระและหรือลดจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ
  3. โปรไบโอติกส์ จำเป็นต้องเป็นชนิดที่เหมาะสมเพื่อการรักษาโดยเฉพาะ
  4. ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดการอาเจียน ยาลดไข้ ยารักษาอาการท้องอืด ยาลดอาการปวดท้อง ยาทาก้นแดง แร่ธาตุสังกะสี

 

อาหารที่เหมาะสม :

  • ดื่มน้ำสะอาด ได้ตามปกติ
  • นมแม่ สามารถกินได้ตามปกติ
  • นมผงปราศจากน้ำตาลแลคโตส (Lactose free) เหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการถ่ายเหลวมาก สงสัยมีภาวะขาดน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในนมวัว
  • กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ปรุงสุก สะอาด กินน้อยๆ แต่บ่อยๆครั้ง
  • หลีกเลี่ยง น้ำหวาน น้ำผลไม้ อาหารมัน อาหารที่มีรสจัด อาหารดิบ

การป้องกันโรค 

“ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”

  1. ดูแลทำความสะอาด อุปกรณ์ชงนม ขวดนมขวดน้ำ ภาชนะใส่อาหารและน้ำดื่ม
  2. ล้างมือทั้งตัวเด็กและผู้ที่ดูแลเด็ก โดยเฉพาะก่อนเตรียมและป้อนนมและอาหารเด็ก
  3. กินนมแม่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน เพราะนมแม่มีสารเสริมภูมิคุ้มกัน
  4. หมั่นทำความสะอาดของเล่น
  5. ล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาด กินอาหารปรุงสุกใหม่

 

การป้องกันโรค ที่สำคัญอีกอย่าง คือ การรับวัคซีน

ปัจจุบัน ในเด็ก มีวัคซีนป้องกันโรคท้องเสียจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส

  • เป็นชนิดหยอดเข้าทางปาก
  • โดยเริ่มหยอดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป
  • มีแบบหยอด 2 ครั้งและหยอด 3 ครั้ง

 

สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100 %

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE