ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

>20 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย รศ.นพ. กิตติ ต่อจรัส กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดในเด็ก

ภาวะโลหิตจางในเด็กของประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากภาวะของการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) และ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (thalassemia syndrome) ภาวะโลหิตจางจากการ ขาดธาตุเหล็ก พบได้บ่อยใน 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี และ ในวัยรุ่น ได้มีการศึกษาความชุกของภาวะโลหิตจางในเด็กวัยก่อนเรียน อายุต่ำกว่า 6 ปี พบ มีอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ส่วนในเด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี พบร้อยละ 19

 

ธาตุเหล็กในร่างกาย

ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง สารนี้ทำหน้าที่นำออกซิเจน ไปสู่เนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ถ้าขาดธาตุเหล็กในระดับที่ทำให้การสร้างฮีโมโกลบินลดลงมาก จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ ธาตุเหล็กนอกจากเป็นองค์ประกอบในเม็ดเลือดแดงแล้ว ยังเป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อและเอ็นไซม์ของอวัยวะต่างๆในการทำหน้าที่อื่นๆ นอกจากนี้ร่างกายยังมีระบบการสำรองธาตุเหล็กสะสมในอวัยวะต่างๆ เช่น ไขกระดูก ตับ และ ม้าม ทารกแรกเกิดได้รับธาตุเหล็กจากมารดาผ่านทางรกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังจากคลอดจะได้ธาตุเหล็กจากอาหาร ได้แก่ น้ำนมแม่ และ อาหารอื่นๆ ธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่จะดูดซึมได้ดีมากถึงร้อยละ 50 ของธาตุเหล็กที่มีอยู่ น้ำนมแม่จึงเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ในภาวะปกติจะเพียงพอสำหรับลูกจนถึงอายุ 6 เดือน

 

ปัจจัยเสี่ยงของการขาดธาตุเหล็ก

ปัจจัยเสี่ยงของการขาดธาตุเหล็กในทารกอายุขวบปีแรก มีดังนี้

ก. ประวัติมารดาก่อนคลอด

  1. มีภาวะซีดระหว่างตั้งครรภ์
  2. เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี
  3. ตั้งครรภ์หลายครั้ง (Multiple gestations)

ข. ประวัติทารก

  1. น้ำหนักตัวน้อย
  2. คลอดก่อนกำหนด

ค. การดื่มนม

  1. ดื่มนมวัว (Cow’s milk)
  2. ดื่มนมผสมสูตรที่ไม่มีธาตุเหล็กเสริม
  3. ดื่มนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ได้ธาตุเหล็กเสริม

 

สาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก

สามารถจำแนกได้ดังนี้

  1. ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารน้อยเป็นปัญหาที่พบบ่อยในทุกวัย ในเด็กเล็กอายุ 1 – 2 ปีแรก ที่ดื่มแต่นมอย่างเดียวหรือได้นมผสมที่ไม่ได้เสริมธาตุเหล็กหรือได้รับอาหารเสริมช้าจากการเลี้ยงดูไม่ถูกต้อง มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการขาดธาตุเหล็ก ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป การมีนิสัยบริโภคไม่เหมาะสม ได้แก่ ไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์ ไม่ชอบรับประทาน ไข่ เป็นต้น มีโอกาสขาดธาตุเหล็กได้
  2. ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น ในทารกแรกเกิดที่น้ำหนักตัวน้อย ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนด จะมีธาตุเหล็กที่ได้จากแม่น้อยตามน้ำหนักด้วย ประกอบกับอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าทารกปกติ ในช่วง 6 เดือนแรก จึงต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติ ธาตุเหล็กที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการสร้างเม็ดเลือดแดง จึงทำให้เกิดภาวะซีด ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่อายุเพียง 2-3 เดือน
  3. การเสียเลือด เช่น มีเลือดกำเดา เลือดออกจากแผลในกระเพราะอาหาร มีพยาธิปากขอ มีประจำเดือนมากผิดปกติ สิ่งเหล่า นี้เป็นสาเหตุของการขาดธาตุเหล็กจนมีอาการซีดได้

 

การตรวจกรองภาวะซีด

ตรวจดูระดับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin, Hb) และหรือฮีมาโตคริต (Hematocrit, Hct) เพื่อดูภาวะโลหิตจางหรือไม่โดยใช้ค่าของ Hb < 11 g/dL และหรือ Hct < 33% ตามลำดับ การตรวจกรองแยกตามกลุ่มอายุได้ดังต่อไปนี้

อายุ < 1 ปี

– ทารกคลอดปกติให้ตรวจกรองที่อายุ 9-12 เดือน

– ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อย ควรตรวจกรอง ใน 2 ช่วงอายุคือที่อายุ 3 เดือนในกรณีที่ไม่ได้ธาตุเหล็กเสริมหรือ ตรวจกรองที่อายุ 6 เดือน กรณีที่ได้ธาตุเหล็กเสริม

อายุ 1-3 ปี

– เด็กในกลุ่มเสี่ยง เช่น รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อยได้แก่ ดื่ม Cow’s milk มากกว่า 24 ออนซ์ต่อวัน ให้ตรวจกรองที่อายุ 15-18 เดือนและที่อายุ 24 เดือน

 

การวินิจฉัยภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ประกอบด้วย

  1. CBC จะพบ Hb < 11 g/dL, Hct < 33%, MCV และ MCH มีค่ำต่ำกว่าเกณฑ์ การดูเสมียร์เลือดจะพบเม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กติดสีจาง (microcytic, hypochromic)
  2. Serum iron, Total iron biding capacity (TIBC) และ Transferrin saturation ในภาวะขาดเหล็กจะน้อยกว่า 15%
  3. Serum ferritin จะมีค่าลดลงในภาวะขาดธาตุเหล็กใช้ค่าที่น้อยกว่า 15 ng/mL

ก่อนการตรวจกรองควรซักประวัติอาหารว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงขาดธาตุเหล็กหรือไม่ ถ้าการตรวจกรองพบว่าซีด และไม่สามารถตรวจยืนยันภาวะขาธาตุเหล็กได้ให้พิจารณาให้รับประทานธาตุเหล็กในขนาด 3มก./ก.ก./ วัน (therapeutic trial of iron) เป็นเวลา 1 เดือนแล้วเจาะเลือดตรวจระดับ Hb ถ้าเพิ่มขึ้น 1 กรัม/ดล. หรือ Hct เพิ่มขึ้น 3% ให้ การวินิจฉัยว่าขาดธาตุเหล็กจะต้องให้ธาตุเหล็กต่อไปอีก 2 เดือน แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับ Hb หรือ Hct ให้ ตรวจหาสาเหตุอื่นๆของภาวะซีด ได้แก่ ตรวจ hemoglobin type เพื่อวินิจฉัยธาลัสซีเมีย เนื่องจากมีอุบัติการณ์ของผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียสูงถึงร้อยละ30 และเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียร้อยละ 1

 

การรักษา

ประกอบด้วย

  1. การให้ยาธาตุเหล็ก Ferrous sulfate ขนาด 5-2.0 มก./กก./วัน เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ จนระดับฮีโมโกลบิน หรือฮีมาโตคริตขึ้นมาปกติและให้ต่ออีก 2 เดือนนอกจากนี้ การให้ยาธาตุเหล็กจะช่วยให้เจริญอาหารขึ้นด้วย
  2. ในเด็กน้ำหนักตัวน้อยการรักษาจำเป็นต้องได้รับยาธาตุเหล็กเสริมให้เพียงพอและให้นมเสริมธาตุเหล็ก หลังจากหย่านมแม่ ให้รับประทานอาหารเหมาะสมตามวัยครบห้าหมู่โดยเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงและดูดซึมได้ดี ได้แก่ อาหาร โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อ หมู ปลา ตับ และไข่แดง
  3. การให้คำแนะนำเรื่องอาหารเป็นส่วนสำคัญในการฝึกเด็กให้ รับประทานอาหารครบห้าหมู่ ประกอบด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ พร้อมทั้งธาตุเหล็กและไวตามินต่างๆควรศึกษาปัญหาการขาดธาตุเหล็ก อาจมีต้นเหตุจากไม่ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือในวัยรุ่นการจำกัดอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น
  4. การรักษาสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก เช่น รักษาโรคกระเพาะอาหารกรณีที่เสียเลือดจากมีแผลในกระเพาะอาหาร หรือให้ยาถ่ายพยาธิปากขอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียเลือดทางลำไส้จากพยาธิ เป็นต้น

 

ผลกระทบของการขาดธาตุเหล็ก

การขาดธาตุเหล็กมีผลต่อระดับเชาว์ปัญญา (Cognitive function) ซึ่งประเมินจาก IQ test และผลการเรียนวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ พบว่าในเด็กนักเรียนที่ขาดธาตุเหล็กถ้าได้รับการรักษาจนระดับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้น จะทำให้ระดับเชาว์ปัญญาเพิ่มขึ้น

 

การป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก

  1. โดยการให้ธาตุเหล็กเสริม (Iron supplement) ขนาด 1 มก./กก./วัน
  2. ในเด็กอายุขวบปีแรก แนะนำให้งดดื่ม Cow’s milk ในกรณีที่ดื่มนมแม่ให้รับประทานธาตุเหล็กเสริมเมื่ออายุ 4-12 เดือน และเมื่อหย่านมแม่ให้ดื่มนมที่เสริมธาตุเหล็ก
  3. ในช่วงอายุ 1-2 ปี สามารถป้องกันได้โดยรับประทานอาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กและวิตามิน ซี สูง จำกัดการดื่ม Cow’s milk ไม่เกิน 24 ออนซ์ต่อวัน และรับประทานนมที่มีธาตุเหล็กเสริม
  4. พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มนมจากขวดเมื่ออายุมากกว่า 1 ปีเนื่องจากการดื่มนมจากขวด (ottle-feeding) เป็นเวลานาน 24-48 เดือน จะมีโอกาสเสี่ยงสูงจากการขาดธาตุเหล็กมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมจากขวด

 

คำแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรอง ภาวะโลหิตจางด้วยการหาค่าฮีโมโกลบิน และ/หรือค่าฮีมาโตคริต เมื่อเด็กอายุ 15-18 เดือน พร้อมกับการที่เด็กมารับการตรวจสุขภาพและรับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน หรือวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (กระตุ้นครั้งที่ 1) หรืออาจตรวจคัดกรองหนึ่งครั้งช่วงอายุ 2 ปี ในโอกาสที่เด็กมารับการตรวจสุขภาพเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้

 

คำแนะนำสำหรับการป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

  1. หลีกเลี่ยงการให้ Cow’s milk ในทารกอายุ 1 ปีแรก
  2. ทารกคลอดครบกำหนด และดื่มนมสูตรทารกที่เสริมธาตุเหล็กไม่ต้องให้เหล็กเสริม
  3. ทารกที่คลอดครบกำหนดที่ดื่มนมแม่อย่างเดียว เมื่ออายุ 4- 6 เดือน ให้เสริมธาตุเหล็กในขนาด 1 มก./กก./วัน หรือ ให้ อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็ก (Iron – fortified cereal) เนื่องจากนมแม่มีปริมาณธาตุเหล็กต่ำ แต่การดูดซึมได้ดี
  4. ทารกที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย ให้เสริมธาตุเหล็ก 2 มก./กก./วัน

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคเลือด ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE