โรคสุกใสหรือโรคอีสุกอีใส

>30 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พญ.พรพิชญา เลขวัต กุมารแพทย์

โรคสุกใสหรือโรคอีสุกอีใส

เป็นโรคที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส Varicella – Zoster virus หรือ Human herpes virus type 3 ในประเทศไทยมักเกิดการระบาดในช่วงต้นปี คือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยมากมักเกิดในเด็ก อาการในเด็กมักไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับอาการในผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ที่มักจะมีอาการรุนแรงและมีโรคแทรกซ้อนมากกว่า ในปัจจุบันโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

 

โรคสุกใสสามารถติดต่อโดยการหายใจเอาฝอยละอองจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำบนผิวหนังของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ ระยะที่ผู้ป่วยอาจแพร่เชื้อได้คือ 1-2 วันก่อนผื่นขึ้น จนกระทั่งผื่นตกสะเก็ดหมด

 

หลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการในระยะเวลาประมาณ 10-21 วัน อาการที่พบคือ มีไข้ (มักมีไข้ประมาณ 37.8 – 38.9 C แต่อาจพบไข้สูงถึง 41.1 C ได้ ไข้จะลดลงหลังจากมีผื่น 2 – 4 วัน) ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดท้องเล็กน้อย อาการเหล่านี้มักเกิดก่อนมีผื่น 1 – 2 วัน

 

ผื่นที่พบในโรคสุกใสมีลักษณะเป็นผื่นแดงราบมีอาการคัน ต่อมากลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสอยู่ภายในแล้วตกสะเก็ด สะเก็ดจะหลุดหายไปในเวลาประมาณ 5-20 วัน ผื่นมักขึ้นเต็มที่ใน 4 วัน โดยจะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย กล่าวคือบางที่เป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มนูนใส หรือบางที่เริ่มตกสะเก็ด ตำแหน่งที่เริ่มพบคือที่หนังศีรษะ ใบหน้า ลำตัว แล้วกระจายไปที่แขน ขา อาจพบแผลในช่องปากและในลำคอได้ จำนวนผื่นที่พบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300 จุด

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบร่วมได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ข้ออักเสบ สมองอักเสบและภาวะแทรกซ้อนทางสมองอื่นๆ เป็นต้น

 

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ หญิงมีครรภ์ ทารกแรกเกิด ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้รับประทานยากดภูมิต้านทานต่างๆ

 

เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคสุกใสแล้วเชื้อไวรัสจะหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาท ทำให้เกิดโรคงูสวัดได้เมื่อภูมิต้านทานของร่างกายลดลง

 

โรคสุกใสสามารถหายได้เองโดยเฉพาะในเด็กที่สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสจึงไม่มีความจำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย โดยมากพิจารณาให้ในรายที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง การให้ยาต้านไวรัสอาจทำให้ระยะการเป็นโรคสั้นลงได้ ผู้ป่วยควรได้รับยาต้านไวรัสเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังเริ่มมีผื่นขึ้น ประโยชน์จากการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจะน้อยลงหากได้รับหลัง 72 ชั่วโมงหลังเริ่มมีผื่นขึ้น

 

ถ้ามีไข้ ให้เช็ดตัวลดไข้ ร่วมกับให้ยาลดไข้กลุ่มพาราเซทามอล ไม่ควรใช้ยากลุ่มแอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทางสมองและตับทำงานผิดปกติอย่างรุนแรงได้

 

ถ้ามีอาการคัน ควรได้รับยารับประทานเพื่อบรรเทาอาการ ไม่ควรเกา เพราะอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และเป็นแผลเป็นได้ จึงควรตัดเล็บให้สั้น

 

ผู้ป่วยควรแยกตัวจากผู้อื่น เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายโรค ไม่ควรใกล้ชิดกับผู้อื่นโดยเฉพาะ หญิงมีครรภ์ ทารก และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ

 

โรคสุกใสสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ในเด็กที่ไม่มีข้อห้ามในการรับวัคซีนชนิดนี้ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12 – 15 เดือน ขึ้นไป และฉีดกระตุ้นอีกครั้งที่อายุ 4 – 6 ปี หรืออาจฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3เดือน ซึ่งภูมิต้านทานจะขึ้นดีกว่าการฉีด 1 เข็ม และเมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มพบว่าร้อยละ 99 ของผู้รับวัคซีนจะเกิดภูมิต้านทานต่อโรค ผู้ที่ได้รับวัคซีนส่วนหนึ่งยังอาจเกิดโรคสุกใสได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง เช่น อาจไม่มีไข้ หรือจำนวนผื่นน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีน

 

พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ #คลิ๊กเลย

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE