ท้องเสีย ดูแลอย่างไร

>31 ส.ค. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

ท้องเสีย ดูแลอย่างไร

ท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง คือ อาการถ่ายเหลวเป็นน้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง/วัน หรือถ่ายเป็นมูก หรือเป็นมูกปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน

ท้องเสียเป็นอาการที่พบได้บ่อยทั้งในเด็ก และ ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี และผู้สูงอายุเนื่องจากในกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อของร่างกายทํางานได้ไม่สมบูรณ์ จึงเป็นสาเหตุให้ติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย

 

ทําไม…ถึงท้องเสีย

ท้องเสีย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่พบแบบเฉียบพลัน คือ อาการ ท้องเสียที่เป็นไม่เกิน 14 วัน ในเด็กเล็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

  • เชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อย เช่น โรต้าไวรัส, โนโรไวรัส, อะดีโนไวรัส
  • เชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อย เช่น ชิเกลลา, ซาลโมเนลลา, อีโคไล

ในเด็กเล็ก ที่ติดเชื้อไวรัสและเกิดลําไส้อักเสบ อาจทําให้ลําไส้ มีการย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติ เช่น ลําไส้ขาดน้ำย่อยที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตส ทําให้เด็กมีอาการท้องเสียเป็นเวลานานขึ้นถ้ายังกินนม ที่มีน้ำตาลแลคโตส

 

สิ่งที่ทำให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อในทางเดินอาหารมากขึ้น

ได้แก่

  • ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่
  • ภาวะทุพโภชนาการหรือขาดสารอาหาร
  • เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็ก
  • สุขอนามัยหรือการรักษา ความสะอาดไม่ดี
  • สาเหตุอื่น ได้แก่ การแพ้โปรตีนนมหรือแพ้สารอาหารต่างๆ, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

อาการอื่นๆที่พบร่วมกับอาการท้องเสียในเด็ก

อาการไข้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จะถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด อาจมีอาการ ในระบบทางเดินหายใจได้ เช่น ไอหรือ มีน้ำมูกด้วย

ส่วนในผู้ใหญ่ อาการท้องเสียมักเกิดจากอาหารเป็นพิษ คือ ทานอาหารที่มีสารพิษของแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ มักมีอาการอาเจียน ปวดท้องร่วมกับถ่ายเหลวเป็นน้ำ ส่วนการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ก็ทําให้ท้องเสียได้ แต่พบได้น้อยกว่าในเด็ก

 

อันตรายจากอาการท้องเสีย !

ท้องเสียในเด็กมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องลำไส้ดูดซึมน้ำและสารอาหารได้น้อยลง ทำให้ร่างกายขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่ อาการขาดน้ำ ได้แก่ ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำ ตาลึกโหล เพราะเนื้อเยื่อรอบตาขาดน้ำ ปัสสาวะน้อยและมีสีเหลืองเข้มจัด  ในเด็กเล็กๆ กระหม่อมจะบุ๋มลึก เมื่อร้องไห้โยเย จะสังเกตไม่มีน้ำตา ถ้าขาดน้ำรุนแรง จะมีอาการวิงเวียน มึนงง กระสับกระส่าย ช็อกและ เสียชีวิตได้ในที่สุด

 

การดูแล เมื่อเกิดอาการท้องเสีย

เนื่องจากท้องเสียทําให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าเด็กเล็ก การแก้ไขภาวะขาดน้ำ จึงเป็นสิ่งสําคัญที่สุดในการรักษา ถ้าปล่อยให้มีอาการท้องเสียแบบเรื้อรัง จะทําให้ร่างกายขาดสารอาหาร ภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง และ ติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายในเด็ก ดังนั้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ โดยแพทย์จะสอบถามอาการ จํานวนครั้งที่ถ่าย ลักษณะอุจจาระ กลิ่น สี ตรวจร่างกาย หรือตรวจเพิ่มเติมในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น เพาะเชื้อจากอุจจาระ ตรวจเลือดดูการติดเชื้อและ ระดับเกลือแร่ โดยทั่วไปแพทย์มักไม่แนะนําให้ ทานยาหยุคถ่าย (ยาที่ออกฤทธิ์ลดการ เคลื่อนไหวของลําไส้) เพราะการถ่ายอุจจาระ ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายกําจัดเชื้อโรค ออกจากร่างกาย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการ ของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

 

เคล็ดลับในการกิน น้ำเกลือแร่โออาร์เอส

  • อ่านสัดส่วนการผสมที่ระบุอยู่บนซอง และผสมตามสัดส่วนที่กำหนด
  • ในเด็กเล็กๆ ผู้ปกครองควรละลายผงเกลือแร่โออาร์เอสในน้ำสะอาดที่เย็นแล้วในแก้วน้ำดื่ม แล้วใช้ช้อนค่อยๆตักป้อนให้เด็กกินเรื่อยๆ ช้าๆ
  • ในผู้ใหญ่ ให้ละลายใส่แก้วแล้วค่อยๆจิบ ช้าๆ

**** สิ่งสำคัญ คือ ไม่ดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอส แบบรวดเดียวหมด เพราะจะทำให้มีอาการอาเจียน หรือทำให้ท้องเสียมากขึ้นได้

 

การรักษาภาวะขาดน้ำ

สิ่งสําคัญที่สุดในการรักษาอาการท้องเสีย คือ การให้สารน้ำและเกลือแร่ เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ ถ้าขาดน้ำมากหรือ ช็อก ต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ผู้ที่ขาดน้ำไม่มากจะแก้ไข เบื้องต้นโดยใหทานน้ำเกลือแร่โออาร์เอส ซึ่งชนิดและปริมาณ สารน้ำที่ให้ขึ้ นกับความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้ ยังอาจให้ยารักษาร่วมด้วย เช่น ให้ยาต้านจุลชีพ หรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ท้องเสียหรือยาต้านอุจจาระร่วง ยาบรรเทาปวดท้อง ยาลดไข้ หรืออื่นๆ เป็นต้น

หลังจากแก้ไขภาวะขาดน้ำแล้ว ควรให้ทานนม หรืออาหารอ่อน เช่น โจ๊ก น้ำซุป งคอาหารที่มีไขมันมาก ถ้ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

 

*** อาการท้องเสียที่ต้องรีบพบแพทย์ เมื่อมีอาการขาดน้ำปานกลางหรือรุนแรง เช่น ซึม ปากแห้ง ตาลึกโหล กระหม่อมบุ๋ม ชีพจรเต้นเบา เร็ว ไม่ถ่ายปัสสาวะ หรือเมื่อปวดท้องมาก อาเจียนมาก ทานไม่ได้ มีไข้สูง ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายสีดํา เหนียวเหมือนยางมะตอย ซึ่งอาจเป็นอาการของเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่วนเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควร พบแทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้น ภายใน 1 วันทันที

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE