ผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM 2.5

16 ม.ค. 2564 | เขียนโดย

ผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM 2.5 คำแนะนำ และการป้องกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายเพื่อต่อต้านสารพิษต่างๆ ด้วยการตรวจค้นหาปริมาณสารอนุมูลอิสระ (Free radical) และสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)ที่จะช่วยในการวางแผนป้องกันโรค ชะลอความเสื่อมของร่างกายและโรคเรื้อรังต่างๆ กับแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย Wellness Center โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

 

ฝุ่นพิษ หรือ ฝุ่น PM 2.5 ที่เราๆ เริ่มคุ้นเคยกันมาบ่อยๆ ในช่วง 3-5 ปีนี้ คือ อนุภาคมลพิษทางอากาศขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน มี ส่วนประกอบสำคัญหลัก คือ คาร์บอนอินทรีย์ สาร PAHs เกลือซัลเฟต เกลือไนเตรท โลหะหนัก ซึ่งมีสัดส่วน เปลี่ยนไปบ้างตามแหล่งกำเนิดของมลพิษและฤดูกาล เนื่องจากฝุ่นละอองพิษที่มีขนาดเล็กมาก จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ความเข้มข้นและความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 นี้จะมีมากขึ้นในฤดูแล้ง (ช่วง เดือน ธันวาคม – เมษายน ของทุกปี)

 

การหายใจในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 มากก็จะทำให้มีการสูดดมเอาฝุ่นละอองเหล่านี้เข้าไปในร่างกายและแทรกซึมลึกถึงถุงลมฝอยในปอด และเข้าไปสู่ทุกเซลล์ของระบบอวัยวะในร่างกายเราได้อย่างรวดเร็ว นอกจากตัวมันเองที่เป็นอันตรายแล้ว ยังพาเพื่อนเเก๊สมลพิษอื่นๆที่อยู่ปะปนกัน ตามเข้ามาในร่างกายเราด้วย จึงทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพแทบทุกระบบอวัยวะของร่างกาย ส่วนผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยสำคัญ ดังนี้

  1. ระดับความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่ได้รับ
  2. ระยะเวลาที่ร่างกายได้รับสะสม
  3. สัดส่วนของสารประกอบชนิดต่างๆ ในฝุ่น PM 2.5
  4. สภาวะของร่างกายขณะได้รับ PM2.5 (เช่น ทารกในครรภ์มารดาและช่วงวัยต่าง ๆ ความไวต่อมลพิษของบุคคล ความ เจ็บป่วยที่มีอยู่เดิม สุขภาพความแข็งแรงของร่างกาย)

 

ผลกระทบดังกล่าวอาจมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ มีอาการอักเสบแฝงในระบบอวัยวะจนเกิดอาการผิดปกติ ซึ่งเกิดได้ทั้งฉับพลันทันทีทันใด และแบบเรื้อรัง โดยผลกระทบตามระยะต่าง ๆ อาจทำให้เกิดโรคขึ้นใหม่ หรือทำให้โรคเดิมรุนแรงขึ้นทำให้เซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมจนทำให้อวัยวะทำงานเสื่อมเร็วและรุนแรงขึ้นอาจทำให้เซลล์กลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง ตัวอย่างผลกระทบจาก PM2.5 ต่อระบบอวัยวะสำคัญหลักในการดำรงชีวิต ได้แก่

  • ระบบการหายใจที่พบได้เร็วและบ่อย (เช่น โพรงจมูกอักเสบทั้งแบบภูมิแพ้ และติดเชื้อหลอดคอ กล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดอักเสบ) ยังทำให้เกิดการติดเชื้อ (เช่น ไวรัสไข้หวัด ไวรัสไข้หวัดใหญ่ แบคทีเรีย)ได้ง่ายและรุนแรงมากขึ้นหลายเท่า
  • ระบบหัวใจ(กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว)
  • ระบบหลอดเลือด (หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองเสื่อม โรคstrokeของหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ หลอดเลือดดำอุดตัน)
  • ระบบสมอง(สมองด้อยประสิทธิภาพ สมองเสื่อม สมาธิสั้นและระบบจิตประสาท (อารมณ์แปรปรวน ความผิดปกติทางจิตแบบซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย)
  • มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ (โดยเฉพาะมะเร็งปอด)

คำแนะนำในการป้องกันและดูแลตนเองในช่วงที่มีวิกฤตฝุ่นพิษ

  1. ติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่ตัวเองอยู่หรือจุดใกล้เคียงที่สุดเป็นระยะ ๆ หากไม่มีค่าคุณภาพอากาศในบริเวณใกล้เคียง อาจใช้เครื่องวัด 5 แบบพกพา ที่ตรวจวิเคราะห์ค่าพอจะเทียบเท่ามาตรฐานได้ นำมาใช้ในการวางแผนดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงพื้นที่นั้น หรือใช้เวลาทำกิจกรรมอยู่ในพื้นที่นั้นๆให้น้อยที่สุด
  2. ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อไม่ให้มลพิษอากาศเข้ามาสะสมในอาคาร และใช้เครื่องฟอกอากาศในอาคารที่ทำงานหรืออยู่อาศัย เช่น ห้องทำงาน ห้องนอน หรือห้องที่อยู่อาศัยเป็นเวลานาน หากปิดห้องนาน ๆ ระบบไหลเวียนอากาศไม่เพียงพอ (รู้สึกอึดอัด ปวดหรือมึนศีรษะ)ให้เปิดแง้มห้องเพื่อระบายอากาศระยะสั้น ๆ แล้วปิดตามเดิม อาจต้องทำสลับเช่นนี้จนคุณภาพอากาศลดลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับแต่ละบุคคล
  3. ควรสวมหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ (N-95) และสวมให้ถูกวิธี จำเป็นต้องเลือกขนาดที่ใส่ได้กระชับกับรูปจมูกและใบหน้า หากเริ่มอึดอัดหรือเหนื่อยให้ถอดออกเพียงชั่วครู่ ก็จะรู้สึกสบายขึ้นแล้วรีบสวมใหม่ ทำสลับกันไปเช่นนี้จนดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยกับตนเอง
  4. ผู้ที่ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบมากยิ่งขึ้นควรงดเว้นการออกไปในบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นมลพิษปริมาณมาก หากจำเป็นควรสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย หลังเสร็จกิจกรรมให้อาบน้ำชำระล้างทำความสะอาดผิวหนัง ทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิว ก็จะช่วยลดทอนการสัมผัสโดยตรงต่อฝุ่นมลพิษPM 2.5 ได้
  5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายนอกอาคารหรือในอาคาร(โรงยิม)ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศนาน ๆหรืออาจต้องงดออกกำลังกายขึ้นกับระดับคุณภาพอากาศในช่วงเวลานั้นและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล
  6. หลีกเลี่ยงการอยู่ในอาคารที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ
  7. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หรือโรคระบบหายใจเรื้อรัง เช่นหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรหมั่นสังเกตอาการ โรคกำเริบ ถ้ามีอาการควรใช้ยาหรือรักษาเบื้องต้นตามที่แพทย์เคยแนะนำและไปพบแพทย์โดยเร็วหากอาการไม่หายเป็นปกติ
  8. ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ถ้ามีอาการผิดปกติที่รบกวนชีวิตประจำวันควรรีบพบแพทย์เช่นกัน อาการสำคัญที่ควรรีบไปพบแพทย์อย่างฉุกเฉิน ได้แก่ แน่นอกหรือเจ็บหน้าอกหรือเจ็บท้องใต้ลิ้นปี่เหมือนมีของหนักกดทับ เหนื่อยหอบผิดปกติ ปวดมึนศีรษะ ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าหรือแขนขาซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน มุมปากตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน มองไม่เห็นฉับพลัน อาการไอเป็นชุด ๆ ไอมีเสียงดังหวีด มีไข้และหอบเหนื่อย เป็นต้น
  9. สวมใส่แว่นตาขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันดวงตาจากมลพิษ ใช้น้ำเกลือมาตรฐานล้างตาหากรู้สึกระคายเคืองตา
  10. ใช้น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อล้างฝุ่นควันลดอาการคัดจมูก หรือ กลั้วคอ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
  11. หลีกเลี่ยงก่อมลพิษ เช่น ไม่เผาทุกชนิด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้รถควันดำ หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ้าพบเหตุการณ์เผาป่าหรือหญ้าข้างทาง

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ