โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)

15 มิ.ย. 2566 | เขียนโดย รพ.สินแพทย์ เสรีรักษ์

โรคกรดไหลย้อน จัดเป็นภาวะที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน โดยพบว่า มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก



โรคกรดไหลย้อน จัดเป็นภาวะที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน โดยพบว่า มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก

โรคกรดไหลย้อนเกิดจาก การที่มีสารในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมา ไม่เพียงแต่กรดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงน้ำดี แก็ส ที่อยู่ในกระเพาะ อาการจำเพาะที่สามารถพบได้ คือแสบร้อนยอดอก (Heart burn or Retrosternal burning) ซึ่งมักพบมากหลังทานอาหารมัน รสจัด มื้อใหญ่ แอลกอฮอล์ และ เรอเปรี้ยว (Regurgitation)

โดยยังสามารถแบ่งกลุ่มอาการ ได้เป็น 2 กลุ่ม

 

  • กลุ่มอาการของหลอดอาหาร (Esophageal symptom)

จะเป็นแสบร้อนยอดอก เรอเปรี้ยว อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Non cardiac chest pain) และยังมีบางภาวะซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบ หลอดอาหารตีบ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร

 

  • กลุ่มอาการนอกหลอดอาหาร (Extra esophageal symptom)

จะเป็นอาการไอ กล่องเสียงอักเสบ หอบหืด หรือ มีฟันผุ ส่วนอาการนอกจากนี้ เช่น เสียงแหบ จุกแน่นคอ กระแอมบ่อยๆ พบว่ายังอธิบายยืนยันจากโรคกรดไหลย้อนไม่ได้ทั้งหมด จึงต้องมีการสืบค้นหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมจากการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

กลไกการเกิด

  1. หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง มีการคลายตัวที่มากกว่าปกติ เทียบกับคนทั่วไป
  2. หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง มีแรงบีบตัว ต่ำกว่าปกติ
  3. การเพิ่มขึ้นของกระเปาะกรด(Acid pocket) หลังทานอาหารมากกว่าคนปกติ .
  4. บางภาวะ “ไส้เลื่อนกระบังลม” ซึ่งทำให้บางส่วนของกระเพาะมีการไหลขึ้นไปในช่องอก ได้ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะ หลอดอาหารอักเสบ และ การกลายเป็นมะเร็ง

 

การวินิจฉัย

1.จากอาการแสบร้อนยอดอก และเรอเปรี้ยว (อย่างน้อย 2ครั้ง /สัปดาห์)

2.มีการตอบสนองต่อยาลดกรด proton pump inhibitors นาน 4-8สัปดาห์

3.การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน โดยมีประโยชน์ดังนี้

  • สามารถบอกความรุนแรงของภาวะ หลอดอาหารอักเสบ ได้
  • ใช้ประเมินผู้ป่วยในกลุ่มที่มีสัญญาณเตือน เช่น กลืนติด กลืนลำบาก อาเจียนซ้ำๆ ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด หรือน้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ
  • ใช้ประเมินโรคที่มีอาการคล้ายกับโรคกรดไหลย้อน เช่น โรคหลอดอาหารอักเสบชนิดอีโอซิโนฟิล

การรักษา

1.การปรับพฤติกรรม

  • งดเหล้า และบุหรี่
  • คุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
  • งดรับประทานอาหารก่อนเข้านอน 3 ชั่วโมง เน้นท่านอนหัวสูงตะแคงซ้าย
  • ลดอาหารที่มีความมันหรือรสจัด

2.การใช้ยา

  • กลุ่มยาลดกรด ได้แก่ Proton pump inhibitors(PPIs) /Potassium competitive acid blockers(PCABs)
  • กลุ่มยาAlginate
  • กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ เพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร : Prokinetic

3.การผ่าตัด 

จะพิจารณาในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาลดกรดขนาดสูง นาน8-12สัปดาห์  ร่วมกับมีการตรวจพบความผิดปกติ ของการตรวจวัดค่าpHของหลอดอาหาร และ การบีบตัวผิดปกติของหลอดอาหารโดยเครื่องมือเฉพาะ

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ