โรคแพนิค (Panic Disorder)

1 ก.ย. 2565 | เขียนโดย รพ. สินแพทย์ เสรีรักษ์

โรคแพนิค (Panic Disorder)

 

โรคแพนิค คืออะไร

โรคแพนิค คือ ภาวะที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตื่นตระหนก วิตกกังวล มีความกลัว ที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน โดยที่ไม่ได้เผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย หรือสถานการณ์ที่อันตรายใด ๆ โดยอาการจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 3-10 นาที ในบางรายอาจจะเป็นนานกว่านั้น ทำให้ผู้ป่วยที่เกิดอาการครั้งแรกจะรู้สึกกลัวเป็นภัยถึงชีวิต จะเริ่มรู้สึกกลัวว่าจะกลับไปเป็นอีก ในบางรายที่เป็นหนักมาก ๆ อาจจะส่งผลกระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่กล้าออกไปข้างนอก ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว ปลีกตัวออกจากสังคม ลาออกจากงาน เป็นต้น

ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าแพนิคกับวิตกกังวลเป็นโรคเดียวกัน นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ได้ผิดซะทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ถูกไปทั้งหมดเช่นกัน เนื่องจากความแตกต่างของ 2 โรคนี้ค่อนข้างชัดเจน โรคแพนิคจะมีอาหารทางกายที่รุนแรงทันที เช่น หายใจเร็ว เหงื่อแตก ใจสั่น ตัวชา มือเท้าชา สามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำ ๆ ไม่สามารถหาสาเหตุได้อย่างชัดเจน ส่วนโรควิตกกังวลนั้นจะมีความกังวลในชีวิตแทบจะทุกเรื่อง มักจะนอนหลับยาก ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ รู้สึกกระสับกระส่าย โดยจะมีอาการเรื่อย ๆ ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนและไม่ดีขึ้น

 

อาการของโรคแพนิค

อาการของโรคแพนิคหลัก ๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกตื่นตระหนก ตกใจ หรือมีความกลัวที่รุนแรง อย่างกะทันหัน เหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกเหมือนคนจะตาย ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน จะเกิดอาหารซ้ำ ๆ และยังมีอาการอื่น ๆ ดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ตัวสั่นเหงื่อออกมาก
  • รู้สึกหายใจลำบาก หายใจถี่
  • รู้สึกอึดอัด แน่นหน้าอก
  • ปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้
  • วิงเวียน โคลงเคลงเหมือนจะวูบ
  • รู้สึกเหมือนสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป
  • รู้สึกชา เหมือนมีอะไรมาทิ่มตามร่างกาย

 

การจัดการตนเองเมื่อมีอาการแพนิค

การจัดการตนเองเมื่อมีอาการแพนิค แม้ว่าโรคนี้จะสร้างความกังวลให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากรู้วิธีรับมือ ก็จะสามารถอยู่รวมกับโรคนี้ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถทำได้โดย

  • ตั้งสติและยอมรับ : พยายามบอกตัวเองว่าอาการจะมาเพียงชั่วคราว จะไม่มีทางเป็นอันตรายถึงชีวิต และยอมรับว่าคุณกำลังรู้สึกกลัว แต่มันจะต้องผ่านไปได้
  • หายใจเข้าลึก ๆ : การหายใจลึก ๆ จะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยให้ผ่อนคลาย โดยแนะนำให้หายใจแบบ 4-7-8 คือ หายใจเข้า 4 วินาที กลั้นหายใจ 7 วินาที และค่อย ๆ หายใจออก 8 วินาที จะทำให้โฟกัสที่ลมหายใจ และจิตใจสงบได้รวดเร็วมากขึ้น
  • โฟกัสกับสิ่งรอบตัว : มองไปรอบ ๆ ตัวและสังเกตสิ่งต่าง ๆ เช่น สี รูปร่าง หรือเสียง ช่วยให้คุณดึงความสนใจออกจากความกลัวและกลับสู่ปัจจุบัน
  • ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ : ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพราะความเครียดกับความกลัวมักทำให้กล้ามเนื้อตึงเครียด ลองคลายกล้ามเนื้อโดยเริ่มจากเท้าขึ้นไปถึงศีรษะ จะทำให้ลดความวิตกไปได้  
  • ดื่มน้ำ : การดื่มน้ำเย็นจะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยให้คุณรู้สึกสงบลง

 

การป้องกันโรคแพนิค

การป้องกันโรคแพนิค แม้ว่าสาเหตุของโรคจะไม่แน่ชัด แต่มีหลายวิธีที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เพื่อป้องกันในการเกิดโรค

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน การนอนหลับจะทำให้ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยให้ร่างกายเกิดการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ที่เป็นสารแห่งความสุข ทำให้ลดความเครียดได้เช่นเดียวกัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และโปรตีน หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารไขมันสูง รวมไปถึงอาหารที่มีน้ำตาลสูง
  • งดการทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้
  • ฝึกจัดการความเครียด เช่น นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ การโยคะ
  • แบ่งเวลาให้บาลานซ์ระหว่างการทำงานและการพักผ่อน หาเวลาทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อขจัดความเครียดจากการทำงาน หรือภาระที่มากเกินไป
  • พูดคุยกับคนใกล้ชิด คนที่สนิทใจ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท ถ้าไม่มีแนะนำให้เข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคแพนิค

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคแพนิค คนทั่วไปมักจะมองว่าโรคนี้เป็นโรคที่อ่อนแอ ต้องบอกว่าแพนิคไม่เกี่ยวข้องกับความอ่อนแอโดยสิ้นเชิง แต่เป็นโรคที่เกิดจากสารเคมีในสมองและปัจจัยอื่น ๆ ดังนั้นไม่ควรไปพูดต่อหน้าผู้ป่วยว่าเป็นคนอ่อนแอ เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่และหลีกเลี่ยงการรักษา 

ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการโดนมองว่าอ่อนแอ คือ เป็นโรคที่น่าอาย เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องจิตเวชโดยตรง ทำให้บางคนเลือกที่จะไม่ไปพบจิตแพทย์ และเลือกหาวิธีรักษาด้วยตัวเอง เพราะไม่กล้าพูดหรือเปิดใจถึงอาการและค้นหาสาเหตุ 

แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคนี้มีทั้งความอ่อนแอและความน่าอาย มีผู้ป่วยที่กำลังเผชิญโรคนี้อยู่เยอะแยะมากมายจนนับไม่ถ้วน ดังนั้นการเปิดใจพูดคุยเกี่ยวกับอาการกับจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการสนับสนุนและกำลังใจในการรักษาให้ดีขึ้นได้

 

โรคแพนิค เกิดจากอะไร

โรคแพนิค เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน และจนปัจจุบันก็ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด มีเพียงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • พันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคแพนิค หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ มีโอกาสเป็นโรคได้สูงขึ้น
  • สารเคมีในสมอง : การทำงานที่ผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน และนอร์เอพิเนฟริน ส่งผลให้เกิดโรคได้เช่นเดียวกัน
  • ปัญหาด้านจิตใจ : ประสบการณ์ในวัยเด็กที่กระทบกระเทือนจิตใจ ความเครียดเรื้อรัง หรือมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต
  • ปัญหาทางด้านกายภาพ : โรคแพนิคอาจจะเกิดร่วมกับโรคทางกายอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์ หรือการใช้สารเสพติด

 

โรคแพนิค ห้ามกินอะไร

โรคแพนิค ห้ามกินอะไร ในคำถามนี้บอกได้เลยว่าผู้ป่วยโรคนี้ไม่มีอาหารใดที่ห้ามเป็นพิเศษ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย คือ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจสงบได้ แต่ก็จะมีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น คาเฟอีน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้แพนิคแย่ลงได้

 

วิธีรักษา โรคแพนิค

วิธีรักษาโรคแพนิค ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วย แพทย์ และนักจิตบำบัด โดยวิธีรักษาแบ่งได้ 3 วิธี ได้แก่

  • การใช้ยา : แพทย์อาจจ่ายยาต้านซึมเศร้า ยาคลายกังวล เพื่อช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง
  • การบำบัดทางจิตวิทยา : การบำบัดด้วยพฤติกรรมเชิงรับรู้ (CBT) ฝึกให้ผู้ป่วยรับมือกับความกังวล และเปลี่ยนแปลงความคิดที่ไม่พึงประสงค์ได้
  • การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต : การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกหายใจลึก ๆ มองหากิจกรรมที่ผ่อนคลาย ช่วยลดความเครียดและบรรเทาอาการได้

 

เป็นโรคที่ได้รับความสนใจในยุคปัจจุบันที่การรับรู้ข่าวสารเข้าถึงง่ายและรวดเร็ว พร้อมทั้งในโลกของโซเชียลมีเดียที่เต็มไปด้วยการแชร์ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ทำให้หลายคนมีภาวะตื่นตระหนก เกิดความเครียดสะสม กังวล จนอาจถึงภาวะเสี่ยงเป็นโรคแพนิคได้

การสังเกตตนเอง

                หากพบว่าตนเองใจจดใจจ่อกับข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา ก็ครุ่นคิดแต่เรื่องนั้นมากจนเกินไป จนเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบการใช้ชีวิต ทั้งการทำงาน การรับประทานอาหาร การพักผ่อน อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นอาการของโรคแพนิค

การดูแลตนเองเพื่อรับมือกับภาวะแพนิค

  • กำหนดเวลาชัดเจนในการใช้สื่อโซเชียล มีเดีย
  • จัดช่วงเวลาผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์ เพื่อลดความเครียดสะสม
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการง่วงซึมระหว่างวัน
  • ควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่นคาเฟอีนหรือน้ำอัดลม
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การหลีกหนีตัวเองออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีหรือการรับรู้ข่าวสารต่างๆที่ไปในทางลบ  พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อผ่อนคลายจากความเครียดและความวิตกกังวล ดูแลจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งมีความสุขกับทุกวัน จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกายและจิตใจ

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ