เช็คอาการ “มะเร็งปอด”

20 ม.ค. 2564 | เขียนโดย

เช็คอาการ “มะเร็งปอด”

มะเร็งปอดเกิดจากอะไร วันนี้สินพทย์ เสรีรักษ์จะพาไปหาคำตอบพร้อม ๆ โรคนี้เกิดจากการที่เซลล์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและผิดปกติ จนไม่สามารถที่จะควบคุมได้ กว่าจะพบก็คือเจอในช่วงที่เซลล์รวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่มาก ๆ แล้ว ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาตรวจรักษา และพบว่าอยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว แม้ว่าบุหรี่อาจมีส่วนสำคัญในการเร่งโอกาสการเกิดมะเร็งที่ปอด แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีฝุ่น PM2.5 หรือละอองที่เป็นพิษ การทำงานในอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง หรือแม้กระทั่งพันธุกรรม อย่างคนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ปอด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงและสาเหตุด้วยกันทั้งนั้น

 

มะเร็งปอดคืออะไร?

มะเร็งปอด คือ การเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติในเนื้อเยื่อปอด สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายผ่านทางกระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองได้ ซึ่งมะเร็งปอดยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับต้น ๆ ของโลก หรือติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก และชนิดที่เซลล์ขนาดไม่เล็ก นอกจากนี้ยังมีชนิดอื่น ๆ แต่พบได้ไม่บ่อยเท่ากับ 2 ชนิดหลักข้างต้น แม้ว่าในปัจจุบันจะมียากลุ่มใหม่ ๆ ในการรักษาและให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แต่การดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะเป็นการรักษาระบบร่างกายได้ดีที่สุด

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอด

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอด คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าเกิดจากการสูบบุหรี่ มลพิษ ควัน ฝุ่น PM 2.5 อายุที่เริ่มมากขึ้น รวมถึงพันธุกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีสาเหตุที่ไม่ค่อยมีใครรู้ และเป็นภัยเงียบที่รุนแรงมาก ๆ ดังนี้
– ก๊าซเรดอน : สารกัมมันตภาพรังสี ที่มาจากการสลายตัวของยูเรเนียม พบได้บ่อยในสถานที่ ๆ กำลังก่อสร้าง ซึ่งเจือปนอยู่ในวัสดุก่อสร้างอย่างหิน ดิน ทราย
– แร่ใยหิน : แร่ที่ถูกนำมาใช้บ่อย ๆ ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยนำมาทำเป็นวัสดุ เช่น ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรก หากทำงานในวงการนี้ พบว่าเสี่ยงโอกาสในการเป็นมะเร็งปอด สูงกว่าคนปกติมากถึง 7 เท่า
– สารก่อมะเร็งอื่น ๆ : นอกจากก๊าซเรดอน แร่ใยหิน ยังมีสารอื่น ๆ เช่น ถ่านหิน สารหนู รวมถึงสารพิษที่เลี่ยงได้ยากมากที่สุดอย่างท่อไอเสียรถยนต์ เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็งปอด

  • ไอแห้งๆ อยู่นานกว่าธรรมดา
  • ไอมีเสมหะ
  • ไอเป็นเลือด แต่เลือดมักออกปนกับเสมหะ
  • ปอดอักเสบ มีไข้ เจ็บหน้าอก
  • น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซีด อ่อนเพลีย
  • เสียงแหบ เพราะมะเร็งลุกลามไปยังประสาทบริเวณกล่องเสียง
  • บวมที่หน้า คอ แขน และอกส่วนบน เนื่องจากมีเลือดดำคั่ง
  • หายใจลำบาก และ หอบเหนื่อย เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
  • กลืนลำบาก เนื่องจากหลอดอาหารถูกกด
  • เจ็บปวดเนื่องจากมะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปในกระดูก ผนังอก เป็นต้น
  • อัมพาต เนื่องจากมะเร็งแพร่ะกระจายไปยังสมอง หรือ ไขสันหลัง

รักษาดูแลสุขภาพ และ ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกัน และ รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

ระยะของมะเร็งปอด

มะเร็งปอด แบ่งได้ 4 ระยะ แต่ละระยะมีลักษณะอาการดังนี้
– ระยะที่ 1 : มะเร็งยังอยู่ในปอด ไม่แพร่กระจาย ไม่แสดงอาการหรืออาจจะไอเรื้อรังเล็กน้อย วิธีรักษาในระยะแรก คือ การผ่าตัด
– ระยะที่ 2 : ระยะต่อมามะเร็งจะเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้นปอด จะไอหนักขึ้น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก วิธีการรักษา คือ ผ่าตัดร่วม หรือมีการเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาเสริม
– ระยะที่ 3 : ระยะนี้มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณกลางทรวงอก และไปยังโครงสร้างใกล้เคียง เช่น ผนังทรวงอก อากาจะเริ่มรุนแรงขึ้น เช่น น้ำหนักลด หายใจลำบากมาก ไอเป็นเลือด วิธีรักษา คือ เคมีบำบัด รังสีรักษา และในบางกรณีจะพิจารณาให้มีการผ่าตัด
– ระยะที่ 4 : ระยะสุดท้าย มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก สมอง ตับ อาการจะขึ้นอยู่กับแต่ละอวัยวะที่มะเร็งแพร่กระจาย วิธีรักษาจะเน้นไปที่การประคับประคองอาการ ชะลอการลุกลามของโรค เช่น เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และภูมิคุ้มกันบำบัด

 

การวินิจฉัยมะเร็งปอด

การวินิจฉัยมะเร็งปอดเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และต้องใช้การตรวจหลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด โดยทั่วไปแล้ว การวินิจฉัยมะเร็งปอดมักจะประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
– ซักประวัติและตรวจร่างกาย : แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมถึงอาการที่เกิดขึ้น ประวัติการสูบบุหรี่ ประวัติครอบครัว และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
– ตรวจทางรังสีวิทยา : เช่น X-ray ปอด ในการตรวจเบื้องต้นเพื่อหาก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติในปอด, CT Scan จะละเอียดกว่าแบบ X-ray ประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งได้ และการตรวจ PET/CT Scan จะทำให้แพทย์เห็นเซลล์ในร่างกาย ประเมินได้แม่นยำที่สุด
– การตรวจทางพยาธิวิทยา : ตรวจผ่านการส่องกล้องหลอดลม การเจาะชิ้นเนื้อผ่านผิวหนัง และการผ่าตัดเก็บชิ้นเนื้อ ไปตรวจหาความผิดปกติ

 

การรักษามะเร็งปอด

การรักษามะเร็งปอด ทำได้ 4 วิธีหลัก ๆ แบบให้เข้าใจได้ง่าย ๆ คือ
1. การผ่าตัด สำหรับระยะเริ่มต้น เลือกได้หลายวิธี เช่น ผ่าตัดเปิดช่องอก ผ่าตัดแบบส่องกล้อง
2. เคมีบำบัด เป็นการใช้เคมีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง มักใช้ร่วมกับการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค
3. รักษีรักษา เน้นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง จุดประสงค์เดียวกับแบบที่ 2 คือ ควบคุมระยะลุกลามและบรรเทาอาการของโรค
4. รักษาแบบเฉพาะเจาะจงและภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะต่อเซลล์มะเร็ง หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับเซลล์ได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดบางชนิด ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ข้อดีคือผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัด

 

การป้องกันมะเร็งปอด

แนวทางการป้องกันมะเร็งปอด สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และสูดดมควันบุหรี่ เลี่ยงการสัมผัสสารเคมีอันตราย เลี่ยงมลพิษทางอากาศ PM2.5 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ ในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และข้อที่สำคัญที่สุด คือ การตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ

 

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

การสูบบุหรี่เท่านั้นที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดใช่หรือไม่?

การสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดเพียงอย่างเดียว ในความจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน คือ การอยู่ในสถานที่ ๆ มีควันบุหรี่ การสัมผัสสารก่อมะเร็ง มลพิษทางอากาศ ประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด และสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลย คือ อายุที่เริ่มมากขึ้น

มะเร็งปอดรักษาหายได้หรือไม่?

มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตรวจพบในระยะเริ่มต้น วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ฉันมีความเสี่ยงสูงหรือไม่?

หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป แต่อยากให้เข้าใจแบบนี้ การมีประวัติครอบครัวไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นมะเร็งปอดเสมอไป สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ