โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

31 ม.ค. 2566 | เขียนโดย รพ.สินแพทย์ เสรีรักษ์

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีการแบ่งตัว เซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบหนาตัวขึ้น ลักษณะมีได้หลายรูปแบบชนิดที่พบบ่อยคือ ชนิดผื่นแดงนูนขอบชัดเจน ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวเงินเป็นที่มาของคำว่า “โรคสะเก็ดเงิน”



โรคสะเก็ดเงินคือ ?

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีการแบ่งตัว เซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบหนาตัวขึ้น ลักษณะมีได้หลายรูปแบบชนิดที่พบบ่อยคือ ชนิดผื่นแดงนูนขอบชัดเจน ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวเงินเป็นที่มาของคำว่า “โรคสะเก็ดเงิน”

โรคสะเก็ดเงินพบบ่อยแค่ไหน ?

พบได้ทุกเชื้อชาติ อุบัติการณ์ทั่วโลกประมาณ 1-3 คน ต่อประชาชน 100 คน ผู้ชายและผู้หญิงเป็นพอๆกัน พบได้ทุกอายุ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการช่วงอายุประมาณ 20-40 ปี

โรคสะเก็ดเงินติดต่อหรือไม่ ?

ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่สามารถติดต่อกันได้ ดังนั้นการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเกิดได้ แม้ยังไม่สามารถสรุปหาสาเหตุของโรคสะเก็ดเงินได้ชัดเจน เชื่อว่ามีหลายปัจจัยประกอบกันในการเกิดโรค ข้อมูลในทางการแพทย์ปัจจุบันยอมรับว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้ โดยปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานหลัก ร่วมกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกายกระตุ้น

1.ปัจจัยทางพันธุกรรม    เป็นปัจจัยพื้นฐานหลักแต่การที่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในครอบครัว เป็นโรคสะเก็ดเงินบุคคลอื่นๆในครอบครัวไม่จำเป็นต้องเป็นโรคด้วย ผู้ป่วยสะเก็ดเงินเพียง 1 ใน 3 ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการของโรค

2.ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน เกิดการตอบสนองทางภูมิต้านทานจากการมีแนวโน้มทางพันธุกรรมและปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่แสดงอาการของโรค

3.ปัจจัยกระตุ้นโรค ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความไวต่อปัจจัยกระตุ้นโรคแตกต่าง ดังนั้นผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้โรคเห่อ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นจะสามารถทำให้อาการของโรคดีขึ้นได้

  • ภาวะความเจ็บป่วยภายในร่างกาย และการติดเชื้อจุลชีพบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส

เป็นต้น

  • สภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยมีอิทธิพลต่ออาการของโรค พบว่าผู้ป่วยที่เครียด หงุดหงิด โกธรง่าย นอนไม่หลับผื่นจะกำเริบแดงขึ้น คันมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยต้องแกะเกาส่งผลให้โรคกำเริบ
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ในช่วงมีประจำเดือนช่วงระหว่างการตั้งครรภ์หรือหลังคลอด
  • ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต Beta adrenergic blocking agents ,ยารักษาโรคมาลาเรียชนิด Hydroxychloroquine ลิเธียม (Lithium) ยาสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น
  • การได้รับการบาดเจ็บทางผิวหนัง การแกะเกา ถู เสียดสีบนผิวหนังที่รุนแรง ผิวไหม้แดด แมลงสัตว์กัดต่อย รวมถึงการระคายเคืองจากสารชำระล้างหรือ กรดด่างที่รุนแรง
  • สารเคมีอื่นๆ เช่น บุหรี่ เหล้า

โรคสะเก็ดเงินหายหรือไม่ ?

โรคสะเก็ดเงินมักมีการดำเนินโรคเป็นๆหายๆมีช่วงที่อาการกำเริบและช่วงที่อาการสงบการได้รับการักษาที่เหมาะสมร่วมกับการปฎิบัติตัวหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นโรคจะสามารถทำให้โรคสงบหรือลดความรุนแรงได้

อาการของโรคสะเก็ดเงิน ?

ผู้ป่วยแต่ละรายมีอาการแสดงของโรคแตกต่างกันได้ทั้งในแง่ชนิด อาการ อวัยวะที่เป็น ขนาด ปริมาณและการกระจายตัวของผื่น ความเรื้อรังและการดำเนินโรค

           1.อาการทางผิวหนัง อาการผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบที่พบบ่อยผื่นปื้น นูนขอบเขตชัดเจนจะมีขุยหรือสะเก็ดสีขาวเงินซึ่งเมื่อแกะสะเก็ดออกจะพบจุดเล็กๆบนผื่นบางรายอาจจะมีอาการคันผื่นเป็นได้ทุกตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ข้อศอก เข่า ก้นกบ หนังศีรษะ แขนขา เป็นต้น

บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังนอกจากนี้ผื่นลักษณะอื่น ๆ ที่พบได้แก่ ตุ่มแดงขนาดเล็กกระจายตามตัวผื่นแดงมีตุ่มหนองกระจายทั่วตัว มักเป็นเฉียบพลันและมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย

เมื่อผื่นสะเก็ดเงินหายแล้วจะไม่มีรอยแผลเป็นหลงเหลืออยู่ และน้อยรายมากที่จะทำให้เกิดผมร่วงแต่อาจมีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงสีผิวหนัง ในบริเวณที่เคยเป็นผื่นมาก่อนก็ได้ และจะค่อย ๆ จางลงกลับมาเป็นปกติเมื่อเวลาผ่านไป

  1. โรคสะเก็ดเงินของเล็บมือและเล็บเท้า ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมากกว่าหนึ่งมีความผิดปกติร่วมด้วย ลักษณะผิดปกติที่พบได้ตั้งแต่หลุมเล็ก เล็บหนาขึ้นมีขุยยาว เล็บล่อนจากพื้นเล็บ จนถึงเล็บผิดรูปขรุขระทั้งเล็บ เป็นต้น
  2. โรคสะเก็ดเงินของข้อและเส้นเอ็น ผู้ป่วยโรถสะเก็ดเงินพบว่าการอับเสบของข้อและเส้นเอ็นร่วมด้วยได้ประมาณร้อยละ 10-30 โดยส่วนใหญ่มักมีอาการทางข้อตามหลังอาการผิวหนังและอาการแสดงมีได้หลายลักษณะ ข้อที่เกิดการอักเสบบ่อย ๆ คือข้อส่วนปลาย ศอก เข่า และกระดูกสันหลัง เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ในระยะยาวจะเกิดอาการพิการผิดรูปของข้อได้

โรคสะเก็ดเงินจะมีอันตรายต่อร่างการหรือไม่?

อายุขัยเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเท่ากับประชากรปกติที่ไม่มีโรค แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีอุบัติการณ์ของกลุ่มอาการเมตะบอลิสเพิ่มขึ้นได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันสูง และภาวะไขมันในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันตามมา

จะรักษาโรคสะเก็ดเงินได้อย่างไร?

เป้าหมายหลักของการรักษาโรคสะเก็ดเงินซึ่งเป็นโรคเรื้อรังคือควบคุมโรค ทั้งอาการทางผิวหนังและข้อโดยให้ผลข้างเคียงน้อยที่สุด นิยมรักษาแบบผสมผสานและหมุนเวียน ผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ความรุนแรง ปัจจัยกระตุ้นสภาวะ ปัจจัยกระตุ้นสภาวะจิตใจและทัศนคติต่อโรค อาชีพ เพศ อายุ ดังนั้นการวางแผนตัดสินใจการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจึงแตกต่างกันไป

การรักษาด้วยการทายา

  1. สารให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวหนัง การดูแลผิวให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยลดอาการคันและแสบ ลดการแกะเกาผื่นแล้ว จะช่วยให้ยาทาอื่น ๆ ซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น การทาผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นให้ได้ผลดี ควรทาหลังจากการอาบน้ำทันทีในขณะที่ผิวยังเปียกหมาด ๆ และอาจจำเป็นต้องทาซ้ำระหว่างวัน ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นที่ดีควรเป็นชนิดที่อ่อนโยนไม่ระคายเคือง ปราศจากน้ำหอมมีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดการแพ้ต่ำ ( Hypo-allergnic)
  2. ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นการรักษานิยมที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดตัวอย่างเช่น ยาในรูปแบบของโลชั่นหรือแชมพูใช้กับหนังศรีษะ ผื่นบริเวณหน้าและข้อพับควรใช้ชนิดครีมที่มีความแรงต่ำการใช้ยาไม่ถูกต้องอาจเกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะยาที่มีความรุนแรงสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้ผิวหนังบางลงแล้ว ยาสเตียรอยด์จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายไปกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือทายาเป็นบริเวณกว้างควรอยู่ภาตใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนัง
  3. ยาที่มีส่วนประกอบของน้ำมันดิน (Tar) เป็นยาที่ถูกนำมาใช้เป็นเวลานาน มีหลายรูปแบบ ทั้งแชมพู ครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง เป็นต้น ปัจจุบันในรูปแบบของแชมพูยังได้รับความนิยมการรักษาสะเก็ดเงินที่ศรีษะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี แต่ข้อเสียคือกลิ่นแรงผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง
  4. ยาทากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินดี (Calcipotriols) เป็นยาที่มีประสิทธิภาพที่ดีในการลดความหนาของผื่น นิยมใช้ร่วมกับสเตียรอยด์ผลข้างเคียงที่พบ่อยคือ การระคายเคืองบริเวณที่ทายา และมีข้อควรระวังในการใช้ยาปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดสภาวะแคลเซียมสูง การใช้ยาจึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์                                                                                                                                                                            5.ยาทาอื่น ๆ ได้แก่ ยาทากลุ่ม Calcineurin inhibitor ยา Anthralin (Dithranol) ยากรดซาลิไซลิก(Salicylic acid)

การรักษาด้วยการฉายแสง และเลเซอร์

อาจใช้เป็นการรักษาเดี่ยว หรือแบบผสมผสานก็ได้โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องไปรับการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง การรักษาด้วยแสงที่นิยมมีหลายชนิดได้แก่ ยูวีบี (Narrowband UVB) ยูวีเอร่วมกับยาโซราเลน(PUVA) PUVA ร่วมกับยาเรตินอยด์ เป็นต้น ส่วนการรักษาด้วยเลเซอร์ในปัจจุบันที่มีการนำมาใช้ ได้แก่ Exaimer laser

การรักษาด้วยการรับประทานยาและฉีด

มีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยที่มีความรุ่นแรงปานกลาง-รุนแรงมาก ผู้ป่วยที่มีโรคสะเก็ดเงินของข้อและเส้นเอ็นอาจใช้เป็นการรักษาเดี่ยวหรือผสมผสานก็ได้ ยารับประทานที่นิยมใช้ได้แก่ ยาเมโธเทรกเสท ยากลุ่มเรตินอยด์ ยาไซโคลสปอริน เป็นต้น ส่วนยาฉีดเป็นยาที่พัฒนากลุ่มใหม่ล่าสุด ได้ผลดีแต่ค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ดังนั้นควรใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดเท่านั้น

การปฎิบัติตัวของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน

  • ทาครีมบำรุงผิวให้ความชุ่มชื้นเป็นประจำ เพื่อลดอาการผิวแห้งใช้สบู่อ่อนที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิว
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
  • ทำจิตใจให้สบาย ขจัดความเครียด
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน ควรลดความอ้วน รวมทั้งตรวจสุขภาพคัดกรองโรคกลุ่มเมตะบอสิลม
  • หากได้ยารับประทานหรือยาฉีดที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอยู่ ควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเมื่อเจ็บป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีปฎิกิริยาต่อกัน ถ้าหากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์

 

 

 

 

 

 

 

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ