รู้จัก 'โรคไส้เลื่อน' โรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นได้ มาดูกันว่า ไส้เลื่อนเกิดจากอะไร และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง
‘โรคไส้เลื่อน’ คือโรคที่หลายคนอาจเคยได้ยินกันอยู่บ้าง ซึ่งหลาย ๆ คนอาจคิดว่าโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ชายเพียงอย่างเดียว แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้หญิงเองก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับโรคไส้เลื่อนได้เช่นเดียวกัน
มารู้จักกันว่า โรคไส้เลื่อนคืออะไร มีลักษณะอาการเป็นอย่างไร และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง
โรคไส้เลื่อน คืออะไร?
โรคไส้เลื่อน คือ ภาวะที่ลำไส้บางส่วนเลื่อนออกจากตำแหน่งที่อยู่เดิมไปอยู่อีกตำแหน่งหนึ่ง โดยส่วนที่เลื่อนไปจะยังคงถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้ม และปรากฏเป็นก้อนตุงที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อยืนหรือเดิน แต่อาจยุบหายไปเมื่อนอนหงาย
โรคไส้เลื่อนมีอาการอย่างไร?
- ปวดบริเวณที่เป็น
- ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- สังเกตเห็นหรือคลำพบก้อนตุง ๆ นูน ๆ ออกมา
ประเภทของโรคไส้เลื่อน
โรคไส้เลื่อนสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดและตำแหน่งที่ลำไส้เลื่อนไปอยู่ โดยไส้เลื่อนแต่ละประเภทมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernia)
ไส้เลื่อนประเภทนี้ถือเป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการที่ผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบอ่อนแอแต่กำเนิด ซึ่งมักแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน
- ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia)
เกิดจากลำไส้บางส่วนเคลื่อนผ่านรูที่เรียกว่า Femoral Canal ซึ่งอยู่บริเวณต่ำกว่าขาหนีบลงมา และไหลมากองกันจนกลายเป็นก้อนนูน
- ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (Incisional Hernia)
ผู้ป่วยบางรายที่เคยเข้ารับการผ่าตัดหน้าท้อง อาจทำให้กล้ามเนื้อและพังผืดในบริเวณดังกล่าวบางลงและหย่อนยานกว่าปกติ ทำให้ลำไส้มีโอกาสเคลื่อนตัวไปกองอยู่ในบริเวณนั้น ๆ ได้
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical Hernia)
เป็นภาวะที่พบตั้งแต่กำเนิด โดยส่วนใหญ่มักเกิดในทารกที่คลอดก่อนกำหนด บางครั้งอาจเรียกกันว่า ‘สะดือจุ่น’
- ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian Hernia)
เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชั้นพังผืดบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้องเริ่มหย่อนยาน ลำไส้จึงเคลื่อนตัวออกมาบริเวณด้านข้างของหน้าท้อง จนมองเห็นเป็นก้อน ๆ
- ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia)
มักพบได้ในผู้ป่วยวัยกลางคนขึ้นไป เกิดจากการที่กล้ามเนื้อกะบังลมหย่อนยาน ร่วมกับความดันในช่องท้องที่มากกว่าปกติ ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวไปอยู่ผิดตำแหน่ง
- ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator Hernia)
เกิดจากการที่ลำไส้บางส่วนไหลผ่านช่องบริเวณกระดูกเชิงกรานและไปกองรวมกันอยู่บริเวณนั้น ๆ ถือเป็นประเภทของไส้เลื่อนที่พบได้น้อยที่สุด และมักพบได้ในผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคไส้เลื่อน
- ผนังช่องท้องอ่อนแรง
- เคยผ่าตัดบริเวณช่องท้อง ทำให้ผนังช่องท้องในบริเวณนั้น ๆ อ่อนแรง
- อาการไอเรื้อรัง
- ภาวะน้ำหนักเกิน
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การยกของหนัก หรือ การออกแรงเบ่งอุจจาระอย่างหนัก
รู้ไว้ใช่ว่า ผู้หญิงเองก็มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้
สำหรับใครที่เคยเข้าใจว่า ไส้เลื่อนเป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงเองไม่จำเป็นต้องระวัง ต้องบอกว่าความจริงแล้ว ผู้หญิงเองก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคไส้เลื่อนได้เช่นเดียวกัน ด้วยสรีระของกระดูกที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดไส้เลื่อนบางประเภท โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยกของหนักเป็นประจำ หรือ ผู้หญิงที่เคยผ่าตัดคลอดบุตรมาก่อน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นไส้เลื่อนมากขึ้น
การรักษาโรคไส้เลื่อน
การรักษาโรคไส้เลื่อนสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการดันไส้ที่เลื่อนออกมาให้กลับเข้าไปอยู่ในตำแหน่งเดิม แล้วจึงทำการเย็บปิดเพื่อไม่ให้ลำไส้เคลื่อนตัวซ้ำอีก ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีวิธีการผ่าตัดส่องกล้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ใช้เวลาพักฟื้นไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ และช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้มาก
ผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนสามารถหายเป็นปกติได้ด้วยการรักษาที่เหมาะสม สามารถเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา โรงพยาบาลแถวบางเขนที่พร้อมมอบการรักษาโรคต่าง ๆ อย่างครอบคลุม
นัดหมายแพทย์ออนไลน์ หรือปรึกษาได้ที่ Call Center 02-793-5000