แนะนำอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ในแต่ละไตรมาสควรกินอะไรบ้าง ?

3 ก.ค. 2567 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

แนะนำอาหารสำหรับคนท้องในแต่ละไตรมาส ช่วยบำรุงครรภ์ ดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยให้แข็งแรง ด้วยสารอาหารที่จำเป็นและคำแนะนำดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ



สำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่ฝ่ายหญิงอยู่ในช่วงกำลังตั้งครรภ์ เชื่อว่าคงไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งนอกจากจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสูตินรีแพทย์อย่างเคร่งครัดแล้ว การรับประทานวิตามินที่จำเป็น รวมถึงหลีกเลี่ยงเรื่องที่ทำให้เครียด และการระมัดระวังการเคลื่อนไหวที่อาจกระทบกระเทือนต่อลูกน้อยก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไป นอกจากนี้ การบำรุงร่างกายจากภายใน ด้วยการรับประทานอาหารบำรุงครรภ์ที่มีประโยชน์ ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน

 

ว่าที่คุณแม่ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ที่ต้องการดูแลสุขภาพตัวเองและทารกน้อยให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้ลูกน้อยคลอดออกมาอย่างปลอดภัย มาเช็กลิสต์อาหารสําหรับหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสได้ในบทความนี้

 

อาหารบำรุงครรภ์สำหรับไตรมาสที่ 1 (อายุครรภ์ 1-3 เดือน)

การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 หรือช่วงที่อายุครรภ์ 1-3 เดือน เป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดภาวะแท้งค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นช่วงหลังการปฏิสนธิ ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโตและฝังตัวในผนังมดลูกของผู้เป็นแม่ จึงถือเป็นระยะที่ต้องระมัดระวังที่สุดก็ว่าได้ โดยสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรกต้องการเป็นพิเศษ ได้แก่

 

  • โฟเลต หรือวิตามินบี 9 สารอาหารสำคัญในการสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นในการแบ่งเซลล์ สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว อีกทั้งยังดีต่อพัฒนาการทางสมองของทารก พบมากในผักใบเขียว เช่น ผักโขม ปวยเล้ง คะน้า บร็อกโคลี ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรกควรได้รับโฟเลต 800 ไมโครกรัมต่อวัน
  • ธาตุเหล็ก มีบทบาทสำคัญต่อระบบไหลเวียนเลือด รวมถึงช่วยส่งออกซิเจนจากแม่ไปสู่ทารกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลดีต่อการพัฒนาของสมอง อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียว เนื้อหมู
  • โปรตีน สารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและอวัยวะให้ลูกน้อย ซึ่งควรรับประทานอย่างน้อย 75-110 กรัมต่อวัน พบมากในไข่ นม ถั่ว และเนื้อสัตว์

 

นอกจากสารอาหารเหล่านี้ การรับประทานผลไม้สำหรับคนท้อง 1-3 เดือน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ระยะอื่น ๆ ก็สำคัญเช่นกัน เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งจะทำให้ว่าที่คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว โดยผลไม้ที่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ก็มีหลายชนิด เช่น มะพร้าว แอปเปิล ฝรั่ง กล้วย ส้ม ลูกพรุน

 

พัฒนาการไตรมาสแรก ฝังตัวและสร้างอวัยวะ

หลังจากการปฏิสนธิ ตัวอ่อนจะฝังตัวที่ผนังมดลูกของผู้เป็นแม่ ทำให้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ และเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 2 จะเริ่มมีแขน ขา ดวงตา และนิ้วมือ เมื่อมีอวัยวะครบถ้วน รวมทั้งจะสามารถขยับแขนขาได้ในการตั้งครรภ์เดือนที่ 3

 

อาหารบำรุงครรภ์สำหรับไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 4-6 เดือน)

ไตรมาสนี้ นอกจากมดลูกจะขยายขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกแล้ว ยังมาพร้อมอาการต่าง ๆ ของหญิงตั้งครรภ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักขึ้น หน้าอกขยายใหญ่เพื่อให้พร้อมสำหรับการให้นมบุตร ขาเป็นตะคริวบ่อย วิงเวียนศีรษะ และมีตกขาว ส่วนอาหารสำหรับคนท้องระยะนี้ มีดังนี้

 

  • แคลเซียม ควรได้รับขั้นต่ำวันละ 1,000 มิลลิกรัม เพราะระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายไม่ได้ต้องการแคลเซียมเพื่อบำรุงกระดูกและฟันของแม่เท่านั้น แต่ยังต้องส่งต่อแคลเซียมไปสู่ลูกน้อยด้วย จึงควรรับประทานอาหารจำพวกนมวัว ปลาตัวเล็ก และผักใบเขียวในปริมาณพอเหมาะ เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน
  • แลคโตส เป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง พบในนมวัว นมแพะ และน้ำนมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ เป็นแหล่งพลังงานสำคัญและช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น และดีต่อระบบย่อย ช่วยลดอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์
  • ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกของทารกและบำรุงกระดูกของแม่ รวมทั้งมีส่วนช่วยในการทำงานของไต หัวใจ และกล้ามเนื้อด้วย

 

พัฒนาการไตรมาสที่ 2 สมองทำงาน ย่อยอาหารได้เอง

ในไตรมาสนี้ ทารกจะเติบโตไวแบบก้าวกระโดด เริ่มมีขนและผมขึ้นเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เล็บและลายนิ้วมือนิ้วเท้าค่อย ๆ ปรากฏขึ้น ปอดสร้างเสร็จจนสมบูรณ์ สมองเริ่มสั่งการง่าย ๆ ได้ เช่น การกะพริบตา การควบคุมการเต้นของหัวใจ และระบบย่อยพัฒนาจนสามารถย่อยอาหารได้เองแล้ว

 

อาหารสำหรับคนท้องที่อุดมไปด้วยโฟเลต

อาหารบำรุงครรภ์สำหรับไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน)

ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดมากเป็นพิเศษ เพราะทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ทำให้หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอย่างเบาหวานหรือความดันสูง ซึ่งในไตรมาสนี้ ร่างกายยังคงต้องการสารอาหารบางกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น โฟเลต โปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก และเสริมด้วยสารอาหารเหล่านี้

 

  • สังกะสี ช่วยพัฒนาเซลล์สมองของทารก เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ว่าที่คุณแม่ และลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด ควรได้รับ 11 มิลลิกรัมต่อวัน พบในอาหารจำพวกเนื้อไก่ เนื้อหมู อาหารทะเล ข้าวกล้อง มันฝรั่ง ถั่ว มะเขือเทศ
  • ไอโอดีน มีบทบาทในการพัฒนาระบบประสาทของทารก ลดความเสี่ยงภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำในหญิงตั้งครรภ์และลดความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนขั้นต่ำ 250 ไมโครกรัม/วัน อาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีน ได้แก่ ปลาทะเล สาหร่ายทะเล กุ้งทะเล
  • ซีลีเนียม สารอาหารสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับคนท้อง ช่วยให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้ตามปกติ ไม่เจ็บป่วยง่าย อาหารที่มีซีลีเนียมสามารถหากินได้ทั่วไป เช่น ปลาทูน่า ข้าวกล้อง ธัญพืช แตงกวา กระเทียม เครื่องในสัตว์
  • อาหารที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม เพื่อให้พร้อมสำหรับการให้นมบุตร เช่น หัวปลี ขิง ใบกะเพรา ฟักทอง กุยช่าย

 

พัฒนาการไตรมาสสุดท้าย แข็งแรง พร้อมลืมตาดูโลก

มาถึงไตรมาสสุดท้าย ช่วงเวลาที่จะได้พบหน้าลูกน้อยอยู่ใกล้แค่เอื้อม ในไตรมาสนี้ ทารกจะเติบโตอย่างรวดเร็ว กระดูกแข็งแรงขึ้น สมองพัฒนาจนสมบูรณ์ เส้นประสาทจึงทำงานได้เต็มที่ รับรู้รส แสง เสียง และความเจ็บปวดได้ เคลื่อนไหวมากขึ้น และกลับหัวเพื่อเตรียมคลอด โดยสามารถคลอดอย่างปลอดภัยได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 37-42 ของการตั้งครรภ์

 

กำลังวางแผนตั้งครรภ์หรือเพิ่งเริ่มต้นตั้งครรภ์ นอกจากจะเลือกรับประทานอาหารบำรุงครรภ์แล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับการฝากครรภ์กับหมอสูตินรีเวชตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยของทั้งว่าที่คุณแม่และทารกในครรภ์ มองหาศูนย์ผดุงครรภ์ที่ให้การดูแลอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ พร้อมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับสากล เลือกแผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่เบอร์ 02-793-5000

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ