
หัวเข่ามีเสียง เข่าลั่นกรอบแกรบ อย่ามองข้าม อาจเป็นสัญญาณว่าหัวเข่าของคุณอาจมีภาวะข้อเข่าเสื่อม หรือหัวเข่าเคลื่อนมาดูวิธีรักษาได้ในบทความนี้
สำหรับใครที่เริ่มมีปัญหาหัวเข่ามีเสียงลั่นกรอบแกรบ เข่าหลวม หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และรู้สึกกังวลว่าอาการที่เกิดขึ้นจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ บทความนี้มีข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับสาเหตุและวิธีการรักษาอาการมาบอกกัน
สาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้หัวเข่ามีปัญหา
ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวเข่า ไม่ว่าจะเป็นการปวดเข่า เข่ามีเสียง เข่าอักเสบ เข่าบวม เดินขึ้นลงบันไดแล้วมีอาการเจ็บ หรือปัญหาอื่น ๆ มักมีจุดกำเนิดมาจาก 4 สาเหตุด้วยกัน ดังนี้
น้ำหนักตัว
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าหัวเข่าคืออวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวขณะทำกิจกรรม ดังนั้น หากมีน้ำหนักตัวมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เกิดแรงกระทำจากน้ำหนักตัวมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ปวดเข่า ข้อเข่าติด และเข่าอักเสบ
อายุ
เป็นธรรมดาที่ร่างกายของคนเราจะเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกอ่อนบริเวณข้อก็จะเสื่อมลงตามไปด้วย อีกทั้งน้ำในข้อเข่าก็จะลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถใช้งานข้อเข่าได้ดีเช่นเดิม
การใช้งานข้อเข่า
การใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การเดินเยอะ การนั่งผิดท่า การยกของหนัก ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่ามีปัญหาก่อนวัยอันควรได้ทั้งสิ้น
การประสบอุบัติเหตุ
การประสบอุบัติเหตุบางประเภท นอกจากจะก่อให้เกิดบาดแผลภายนอกแล้ว ยังกระทบกระเทือนถึงกระดูกหัวเข่าด้วย แม้ว่าบาดแผลบนผิวหนังจะหายสนิทแล้ว แต่อาการบาดเจ็บอาจยังคงอยู่ ส่งผลให้รู้สึกปวด เสียว หรือเจ็บเข่าเรื้อรังในระยะยาวได้
หัวเข่ามีเสียงเกิดจากอะไร มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ?
หัวเข่ามีเสียง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป สามารถจำแนกลักษณะอาการได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ มีอาการปวด และไม่มีอาการปวด โดยอาการแต่ละประเภทมีรายละเอียด ดังนี้
หัวเข่ามีเสียงโดยไม่มีอาการปวด
- เกิดจากการเคลื่อนไหวของเนื้อเยื่อหรือเส้นเอ็นหัวเข่าเสียดสีกับผิวกระดูกอ่อน ทำให้ความดันน้ำในเข่าเปลี่ยน และเกิดเสียงขึ้น
- เกิดจากแก๊สที่อยู่บริเวณรอบ ๆ หัวเข่า รวมกันในน้ำเลี้ยงข้อเข่าจนกลายเป็นฟองแก๊ส เมื่อขยับหรืองอเข่า ฟองแก๊สเหล่านี้จะแตกตัว ส่งผลให้เกิดเสียงดังในข้อเข่า
หัวเข่ามีเสียง ร่วมกับมีอาการปวด
- โรคข้อเข่าเสื่อม รักษาโดยการใช้ยาบรรเทาอาการปวด ปรับพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก งดกิจกรรมที่ส่งผลต่อข้อเข่า และการทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด้วย
- การติดเชื้อในเข่า มักพบในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้มีผิวบาง ทำให้มีอาการปวดอย่างรุนแรง ข้อเข่าบวมแดง ร้อน เคลื่อนไหวลำบาก ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดล้างข้อเข่า และให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
- หมอนรองเข่าฉีกขาด เกิดจากอุบัติเหตุและการเล่นกีฬา ทำให้เข่าหมุนผิดท่า กระดูกจึงไปเบียดกับหมอนรองเข่าและฉีกขาด จึงไม่สามารถเหยียดและงอเข่าได้สุด ต้องประคบเย็น ยกขาสูง และให้ยาลดการอักเสบ แต่หากอาการรุนแรง จะต้องได้รับการผ่าตัด
- กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง ส่งผลให้เมื่อยล้าง่าย มีกล้ามเนื้อน้อย เข่าจึงต้องรับบทหนักในการรับน้ำหนักตัว ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
- หัวเข่าได้รับบาดเจ็บจากกิจกรรมต่าง ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดและวางแผนการรักษาอย่างถูกวิธี
ต้นเหตุของหัวเข่าหลวม พร้อมแนวทางการรักษา
เข่าหลวม มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าภาวะข้อเข่าไม่มั่นคง หรือ Knee Instability คือ ภาวะข้อเข่ามีความรู้สึกไม่มั่นคง อ่อนแรง หรือโยกคลอน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจในการเคลื่อนไหวหรือรับน้ำหนัก เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ดังนี้
1. เอ็นด้านข้างเข่าบาดเจ็บ
เป็นเอ็นที่ทำหน้าที่ยึดข้อเข่าให้มั่นคง โดยเฉพาะขณะที่ขยับเข่าเข้า-ออก อาการบาดเจ็บบริเวณนี้มักเกิดจากการหกล้ม และการบิดเข่าอย่างรุนแรง หากบาดเจ็บเล็กน้อย สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ประคบเย็น ทำกายภาพบำบัด และงดเดินจนกว่าจะดีขึ้น แต่หากบาดเจ็บรุนแรง จะต้องได้รับการผ่าตัด เพื่อให้กลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ
2. เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด
เกิดจากการบิดหมุนตัวหรือการกระโดด แบ่งเป็นแบบเฉียบพลัน ก่อให้เกิดอาการปวดเข่าอย่างรุนแรง เข่าบิด บวม ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ และแบบเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้หัวเข่าหลวม เล่นกีฬาไม่ได้ รวมถึงอาจมีภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อนำเส้นเอ็นจากตำแหน่งอื่นมาสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่าขึ้นมาใหม่ ทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง
3. เอ็นไขว้หลังเข่าบาดเจ็บ
เอ็นไขว้หลังเข่า มีหน้าที่สร้างความมั่นคงให้ข้อเข่าด้านหลัง หากฉีกขาด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเข่าหลวม และเมื่อเดินลงน้ำหนักไปที่ขาข้างนั้น เข่าจะแอ่นไปด้านหลัง สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด แต่หากมีอาการรุนแรงก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือการส่องกล้องเช่นกัน
รู้จักโรคลูกสะบ้าข้อเข่าหลุด ต้นเหตุทำเข่าลั่น เข่าหลวม
โรคลูกสะบ้าข้อเข่าหลุด หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าเข่าหลุด คือ การที่ลูกสะบ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ อยู่ด้านหน้าของหัวเข่าเคลื่อนหลุดออกจากร่องบนกระดูกต้นขาเมื่อมีการงอหรือการเหยียดขา ผู้ป่วยเข่าหลุดจึงมีอาการปวดเข่าขณะเดิน เกร็ง เข่าบวม และมีเสียงกรอบแกรบด้วย
โดยทั่วไป โรคลูกสะบ้าข้อเข่าหลุดสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจร่างกาย แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องได้รับการเอกซ์เรย์และทำ MRI เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้โดยมีหลักการ ดังนี้
กรณีมีลูกสะบ้าหลุดเฉียบพลัน สามารถรักษาได้โดยการดันลูกสะบ้าที่หลุดให้กลับเข้าที่
ทำกายภาพบำบัดหลังจากที่ดันลูกสะบ้าที่หลุดให้กลับเข้าที่แล้ว
ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการหลุดซ้ำ ๆ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อปรับแนวกระดูกใหม่ หรือรัดเอ็นให้แน่นเพื่อป้องกันลูกสะบ้าเลื่อนหลุดซ้ำ
หากรู้สึกว่า ข้อเข่ากำลังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นอาการปวด บวม หลวม ลั่น อย่าปล่อยไว้ เพราะอาจลุกลามจนเป็นอันตรายในระยะยาวได้ เข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญการได้ที่แผนกกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา เราพร้อมดูแล ให้คำปรึกษา วินิจฉัยโรค และทำการรักษาตลอด 24 ชั่วโมง มีห้องผ่าตัดที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับสากล นัดหมายออนไลน์หรือปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02-793-5000