โนโรไวรัส สามารถติดเชื้อได้ในทุกช่วงวัย แต่ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุมักมีอาการรุนแรงกว่า พบระบาดบ่อยในช่วงฤดูหนาว
รู้จักโนโรไวรัส
โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ติดต่อด้วยพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้
- สัมผัสผู้ป่วยโดยตรง
- ทานอาหาร หรือน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัสปนเปื้อน
- สัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่มีเชื้อโนโรไวรัสปนเปื้อน
อาการของโนโรไวรัส
หลังได้รับเชื้อโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 12 – 48 ชั่วโมง ก่อนแสดงอาการต่างๆ ดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน อาการมักค่อนข้างรุนแรง
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
- ปวดบิดท้อง
- ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
โดยอาการต่างๆ จะดีขึ้นภายใน 1 – 3 วัน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายเหลวปริมาณมาก อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้ ซึม มีไข้สูง ปัสสาวะออกน้อย อาจมีภาวะขาดน้ำรุนแรง ควรรีบพามาโรงพยาบาลทันที
แนวทางการตรวจรักษา
ปัจจุบันโนโรไวรัสยังไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาโนโรไวรัสจึงเป็นการรักษาแบบตามอาการเป็นสำคัญ
- การให้สารน้ำทางหลอดเลือด
- การให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง หรือยาลดไข้
- รับประทานอาหารอ่อนๆ
- การสังเกตอาการ และระวังภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
วิธีการป้องกันโนโรไวรัส
การรักษาสุขอนามัยเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันโนโรไวรัส
- ดื่มน้ำสะอาด
- ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด
- ล้างผักผลไม้สดก่อนรับประทาน
- ใช้ช้อนกลาง หากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารร่วมกัน
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน