โรคหัวใจในทารกแรกเกิด

>3 มี.ค. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

หลายคนอาจสงสัย..ว่าเด็กแรกเกิดก็เป็นโรคหัวใจได้ด้วยหรือ ?

โดยข้อเท็จจริงแล้ว เด็กทารกแรกเกิดทุกๆ 100 คน จะมี 1 คน ที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดซึ่งมีชนิดผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจด้านบนหรือด้านล่างรั่ว หรือ ชนิดที่มีอาการเขียว ปากม่วงคล้ำ หายใจหอบ โดยรวมแล้ว เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เกือบหนึ่งในสามหากไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเด็ก และได้รับการรักษาทันท่วงที ก็อาจเสียชีวิตได้
อาการที่อาจสงสัยว่าเด็กเป็นโรคหัวใจ

• เด็กดูดนมได้ช้า, ดูดนมแล้วหอบเหนื่อย
• หายใจหอบ เหนื่อยง่ายเวลาเล่น หรือออกกำลังกาย
• เลี้ยงไม่โตหรือเติบโตช้า ในเด็กเล็กก็จะพบพัฒนาการช้าทางด้านที่ต้องใช้กำลังหรือกล้ามเนื้อ เช่น คว่ำ, นั่ง, ยืน, เดิน ช้า แต่มักไม่มีผลต่อสติปัญญาชัดเจน
• มีอาการเขียวเวลาดูดนม เหนื่อยง่าย ทำให้กินได้น้อยกว่าปกติ
• นิ้วปุ้ม มักจะพบในรายที่มีอาการเขียวนานเกิน 1-2 ปีขึ้นไป โดยในรายที่เขียวมากนิ้วก็จะปุ้มมาก

 

ถ้ามีอาการน่าสงสัย ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และวินิจฉัยเพิ่มเติม

หัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)

ในประเทศไทย นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันพบอุบัติการณ์การเกิดโรคนี้ 8:1000 หมายถึง ทารกที่คลอดมีชีวิต 1000 ราย จะพบว่าเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 8 ราย
สาเหตุ แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

1. กรรมพันธุ์ พบเป็นสาเหตุได้ประมาณ ร้อยละ 5 เช่น เด็กที่เป็นโรคดาว์นซินโดรมอาจพบเป็นโรคหัวใจพิการได้ถึงร้อยละ 30
2. สิ่งแวดล้อม พบเป็นสาเหตุได้ร้อยละ 10 เช่น จากการที่มารดาได้รับยาระงับประสาท หรือมีการติดเชื้อหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์
3. อื่นๆ พบได้ร้อยละ 85 โดยที่ความพิการแต่กำเนิดของหัวใจพบมีหลายชนิด อาการแสดงและความรุนแรงของแต่ละโรคจะไม่เหมือนกัน บางชนิดอาจหายได้เอง บางชนิดต้องรับการแก้ไขโดยการผ่าตัดตั้งแต่เด็ก บางชนิดก็รอผ่าตัดแก้ไขตอนเด็กโตขึ้น

 

 

โรคหัวใจในเด็กที่พบบ่อย 5 อันดับแรก

1. ชนิดผนังกั้นห้องหัวใจส่วนล่างรั่ว (Ventricular Septal Defect : VSD) พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
(ร้อยละ 20-30)
2. ชนิดเส้นเลือดแดง (Patent Ductus Arteriosus : PDA)
3. ชนิดผนังกั้นห้องหัวใจส่วนบนรั่ว (Atrial Septal Defect : ASD)
4. ชนิดลิ้นหัวใจ (Pulmonary Stenosis : PS)
5. ชนิดเขียวที่พบบ่อย คือ Tetralogy of Fallot (TOF) หมายถึง ภาวะที่มีความผิดปกติของหัวใจ และ / หรือหลอดเลือดที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

เทคโนโลยี.. ตรวจหาโรคหัวใจในเด็ก

เทคโนโลยี การตรวจหัวใจในเด็ก
1. การวัดปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดจากผิวหนัง ด้วยเครื่อง Pulse Oximeter ซึ่งเป็นการตรวจวัดที่มีความแม่นยำสูง ทารกไม่ต้องเจ็บตัวจากการถูกเจาะเลือด สามารถใช้ตรวจคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียวในทารกได้ตั้งแต่แรกเกิด
2. การเอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูขนาดของหัวใจว่ามีหัวใจห้องไหนโตหรือไม่ และดูลักษณะของเส้นเลือดในปอด
3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดต่างๆ รวมถึงดูว่าห้องหัวใจโตได้ด้วย
4. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการตรวจพิเศษดูภายในหัวใจ และหลอดเลือด โดยกุมารแพทย์ด้านโรคหัวใจเด็ก เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเหมือนการทำ Ultrasound ซึ่งจะบอกรายละเอียดของความผิดปกติภายในหัวใจและเส้นเลือดใหญ่บริเวณใกล้หัวใจได้ เป็นวิธีการตรวจที่ทำได้รวดเร็ว และแม่นยำ โดยไม่มีข้อเสียหรือความเสี่ยงจากรังสีเอกซเรย์ แต่ถ้าการตรวจในขั้นต้นไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้ การตรวจด้วยการสวนหัวใจหรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นวิธีการที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับสุดท้าย และต้องทำรายที่จำเป็นเท่านั้น

การรักษา

ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค เช่น ถ้าเป็น VSD ที่ขนาดเล็กๆ รอยรั่วก็อาจจะปิดได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น หรือ ถ้าเป็น TOF ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น หรือในบางรายก็อาจใช้การรักษาด้วยการใช้ยาก็เพียงพอ

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์ทารกแรกเกิด ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE