โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

>25 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย นพ. เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

โรคชื่อไทยๆ ที่ใครหลายคนยังไม่รู้จักพบได้บ่อยในเด็กที่มาพบแพทย์ด้วยเรื่องไข้ เจ็บคอ โดยจะพบอาการร่วมที่สำคืญ คือ ลิ้นบวมแดงคล้ายผลสตรอเบอร์รี่ (Strawberry tongue) และมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ผื่นจะมีลักษณะเฉพาะคือคลำแล้วสากคล้ายกระดาษทราย (Sand paper like rash) เกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน หลังจากเริ่มมีไข้ พบมากบริเวณลำตัวแล้วกระจายไปตามแขนขา มักไม่พบผื่นบริเวณใบหน้าแต่พบแก้มแดง มีอาการซีดรอบปาก บริเวณข้อพับแขน 2 ข้าง มีสีเข้มคล้ำกว่าปกติ ผื่นจะมีประมาณ 3 – 4 วัน หลังจากนั้นผื่นจะลอกเป็นขุยหรือแผ่นบริเวณผิวหนังไล่จากใบหน้า ลำคอ ลำตัวจนถึงปลายมือและเท้า

 

โรคไข้อีดำอีแดงเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ สเตรปโตคอคคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่น ที่อยู่ในคอหอยทำให้เกิดการติดเชื้อของคอหอยและต่อมทอนซิล พบมีลักษณะเป็นหนองหรือจุดเลือดออกที่คอหอย หรือต่อมทอนซิล โดยเชื้อชนิดนี้สามารถสร้างสารพิษ (Toxin) ทำให้เกิดผื่นที่พบในไข้อีดำอีแดงได้

 

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้อีดำอีแดง ได้แก่ เด็กช่วงวัยเรียนอายุ 5 – 15 ปี หรือ คนที่สัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคไข้อีดำอีแดง มักได้ประวัติว่ามีพี่หรือน้องในครอบครัว หรือเพื่อนที่โรงเรียนมีอาการแบบเดียวกัน ไข้อีดำอีแดงเป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางน้ำมูก น้ำลายที่ไอจามออกไป และจะหยุดแพร่กระจายหลังได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมแล้ว 1 วัน

 

การรักษา

คือ การให้รับประทานยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน (Penicillin) เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรือ เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) เป็นเวลา 10 วัน โดยแนะนำให้กินยาปฏิชีวนะให้ครบแม้อาการอื่นๆ จะหายเป็นปกติแล้วเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever) ซึ่งทำให้เกิดลิ้นหัวใจอักเสบและไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute post-streptococcal glomerulonephritis) กรณีที่แพ้ยาเพนนิซิลินแนะนำให้เลือกใช้ยากลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolides) เช่น อีริโธรมัยซิน (Erythromycin) หรือ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) แทน

 

อย่างไรก็ดีโรคไข้อีดำอีแดงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครคิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง หากสงสัยว่าว่ามีอาการสงสัยว่าเป็นโรคไข้อีดำอีแดงควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและเริ่มรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

ปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้อาการทางคลินิกในการวินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดงแล้ว ยังมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้นที่ให้ผลรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง คือ การตรวจหาเชื้อจากคอหอยและทอนซิล ที่เรียกว่า Rapid strep group A test เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสชนิด เอ หลังจากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ควรให้ผู้ป่วยหยุดเรียนจนอาการดีขึ้น หรือได้รับยาปฏิชีวนะแล้วอย่างน้อย 1 วัน จึงสามารถกลับไปโรงเรียนได้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

 

พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ #คลิ๊กเลย

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

 

 

SHARE