โรคที่ไม่เกี่ยวกับ รถจักรยานยนต์ “คาวาซากิ”

>20 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย นพ.ชาตรี เรืองฤทธิ์นำชัย กุมารแพทย์โรคหัวใจเด็ก

โรคคาวาซากิ (KAWASAKI Disease : KD ) เป็นโรคไข้สูงชนิดหนึ่งของผู้ป่วยเด็ก แต่บังเอิญใช้ชื่อเหมือนกัน แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับจักรยานยนต์คาวาซากิเลยแม้แต่นิดเดียว

 

โรคนี้เป็นกลุ่มอาการป่วยเฉียบพลันในเด็กเล็ก โดยโรคนี้ตั้งชื่อเป็นเกียรติให้แก่ นายแพทย์ Tomisaku Kawasaki ผู้รวบรวมรายงานโรคเป็นคนแรกเมื่อ 50 กว่าปีก่อน

 

แล้วโรคนี้เป็นอย่างไรหรือ?

โรคนี้จะมีอาการไข้ร่วมกับอาการสำคัญอีก 5 ประการ เป็นโรคกึ่งฉุกเฉิน เนื่องจากอาจมีโรคแทรกซ้อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตายเฉียบพลัน ซึ่งควรวินิจฉัยและให้การรักษาภายใน 10 วันแรกของโรค

 

โอกาสเกิดโรคบ่อยไหม?

อุบัติการณ์ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ในอเมริกาพบ 10 รายต่อเด็ก 1 แสนคน ในญี่ปุ่นพบ 185 รายต่อ 1 แสนคน สำหรับในประเทศไทยพบ 3.4 รายต่อเด็ก 1 แสนคน พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ถึง ร้อยละ 85 เพศชายมากกว่าเพศหญิง 1.5 ต่อ 1

 

แล้วสาเหตุของโรคเกิดจากอะไร?

ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจจะสัมพันธ์กับโรคติดเชื้อบางชนิดร่วมกับกลไกทางอิมมูโนที่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงที่หลอดเลือด โดยสรุปยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน

 

จะสงสัยว่าเป็น หรืออาจจะเป็น โรคคาวาซากิ (KAWASAKI Disease : KD ) เมื่อไหร่?

ส่วนมากจะเริ่มสงสัยเมื่อให้การรักษาเด็กที่มาป่วยด้วยไข้ แล้วรักษาไม่ดีขึ้น 4-5 วัน ให้เริ่มเอะใจว่าอาจจะเป็น KAWASAKI ได้ โดยอาการและอาการแสดงสำคัญอยู่ในเกณฑ์การวินิจฉัยโรค ดังนี้

  1. ไข้เป็นเวลานานอย่างน้อย 5 วัน
  2. มีลักษณะหลัก 4 ใน 5 อย่าง
    • ตาแดงทั้ง 2 ข้าง
    • ริมฝีปากแดง แห้ง และแตก เยื่อบุช่องปากแดงอักเสบ ลิ้นเป็นตุ่มแดงคล้ายผลสตรอเบอรี่
    • ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ซม. ไม่เจ็บมักเป็นข้างเดียว
    • ผื่นแดงที่ผิวหนัง เป็นได้ทุกรูปแบบ ยกเว้น ตุ่มน้ำใส
    • มือเท้าบวมแดงในสัปดาห์แรก แต่สัปดาห์ที่ 2 ของโรค พบปลายนิ้วมือนิ้วเท้าลอก

โรคคาวาซากิ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางหัวใจอย่างไรบ้าง?

อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือดพบได้บ่อยในโรคคาวาซากิ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีความพิการ หรือเสียชีวิต เช่น

  1. ความผิดปกติของหลอดเลือดแดงโคโรนารี่ หลอดเลือดแดงโคโรนารี่เป็นหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ พบได้ร้อยละ 15-20 ที่ไม่ได้รับการรักษาจำเพาะ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นหลอดเลือดแดงโคโรนารี่โป่งพองได้
  2. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบได้ร้อยละ 50 ในระยะเฉียบพลัน หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  3. เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบร้อยละ 25
  4. ลิ้นหัวใจอักเสบ พบร้อยละ 1

 

โรคคาวาซากิ ต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมไหม?

โรคนี้จำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยโรค โดย

  1. การตรวจเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และจำนวนเกล็ดเลือด อาจพบภาวะซีด เม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติและจำนวนเกร็ดเลือดสูงเกินค่าปกติ
  2. ตรวจค่าการอักเสบ โดยการตรวจค่าความเร็วของการตกตะกอนเม็ดเลือดแดง (ESR) จะพบว่าสูงกว่าปกติมาก
  3. ตรวจปัสสาวะ พบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะสูง
  4. ตรวจค่าเอ็นไซม์การทำงานของตับ (AST,ALT) พบสูงกว่าปกติ 2-3 เท่า

 

การตรวจทางระบบหัวใจ

  1. คลื่นไฟฟ้าหัวใจพบความผิดปกติได้หลายอย่าง
  2. ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกส่วนใหญ่ปกติ แต่อาจพบภาพหัวใจโตได้ร้อยละ 20
  3. ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนเป็นภาพหัวใจ อาจพบความปกติของหลอดเลือดโคโรนารี่โต หรือเป็นโป่งพอง, ลิ้นหัวใจรั่วพบได้ และอาจพบมีน้ำที่เยื่อบุรอบหัวใจได้ (Pericardial effusion)

 

โรคคาวาซากิต้องรักษาอย่างไร?

การรักษามี 2  อย่างที่สำคัญ

  1. การใช้ยาภูมิแพ้ชนิด Intravenous immunoglobulin (IVIG)
  2. การให้ยาลดจำนวนเกล็ดเลือดที่สูง ด้วยยาแอสไพริน

 

ต้องมาติดตามการรักษานานแค่ไหน?

ส่วนใหญ่ติดตามภายใน 1 เดือนแรก เพื่อดูค่า ESR และจำนวนเกล็ดเลือด ถ้าปกติให้หยุดยาแอสไพรินได้ ยกเว้น ถ้าพบมีความผิดปกติของเส้นเลือดแดงโคโรนารี่อาจต้องให้แอสไพรินต่อ ร่วมกับการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนภาพหัวใจ หลังจากเป็น 2 เดือน และ 6-12 เดือน

 

มีโอกาสเป็นซ้ำได้ไหม?

โอกาสเป็นซ้ำได้ต่ำ พบเพียงร้อยละ 1-3

 

ดังนั้นเด็กที่มีไข้สูง ได้รับการรักษา 5 วันแล้วไม่ดีขึ้น ควรนึกถึง โรคแปลกคาวาซากินี้ด้วย โดยปรึกษากุมารแพทย์ และกุมารแพทย์โรคหัวใจ เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป

 

 

SHARE