รู้จักกับ… เฮอร์แปงไจน่า

>28 ก.พ. 2566 | เขียนโดย โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

โรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหาร พบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ทำให้เด็กมีอาการไข้สูง แผลเปื่อยในช่องปาก เจ็บคอ เป็นโรคระบาดที่พบได้บ่อยซึ่งผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง โรคนี้มีอาการอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่ เรามาทำความรู้จักกับเฮอร์แปงไจน่ากัน



โรคเฮอร์แปงไจน่าเกิดจากอะไร ?

โรคเฮอร์แปงไจน่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับที่เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth Disease) ชนิดที่สำคัญ คือ เอนเทอโรไวรัส71 และ ไวรัสค็อกซากีชนิดเอ มักมีการระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเชื้อไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย ผ่านทางระบบทางเดินหายใจหรือทางเดินอาหาร

 

อาการของโรคเฮอร์แปงไจน่าเป็นอย่างไร ?

หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 5 -7 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรค โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ
– ไขัสูงเฉียบพลัน 38.5 – 40 องศาเซลเซียส
– เจ็บคอ กลืนลำบาก
– มีแผลเปื่อยในช่องปาก เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล คอหอย
– เบื่ออาหาร อาเจียน
– ปวดหัว ปวดตัว
– ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
– ในเด็กทารกอาจมีอาการน้ำลายไหล ไม่ดูดนม อาเจียน ซึมลง

 

โดยทั่วไปอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นและหายได้ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของเฮอร์แปงไจน่านั้นพบได้น้อย แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่น สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ้าเด็กมีอาการซึมลง อ่อนแรง อาเจียนมาก ทานไม่ได้ ชัก หอบเหนื่อย ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

 

โรคเฮอร์แปงไจน่ารักษาอย่างไร ?

เฮอร์แปงไจน่าเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง เมื่อร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น โรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ วิธีรักษาใช้การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่ การรับประทานอาหารอ่อน ๆ การให้เกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ

 

การป้องกันโรคเฮอร์แปงไจน่า

– ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย ตัดเล็บให้สั้น
– ใช้ช้อนกลางเวลารับประทานอาหาร
– ทำความสะอาดของเล่น ของใช้ ให้สะอาดอยู่เสมอ
– ปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อไอจาม
– สอนให้เด็กระวังการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก สิ่งของต่าง ๆ ของเด็กที่ป่วย
– หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปอยู่ในที่แออัด หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
– เมื่อเด็กมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี

 

SHARE