อาการลมชักแบบแสดงอาการไม่ชัดเจน คืออะไร ?
อาการชักมีได้หลายแบบ นอกจากอาการเกร็งหรือกระตุกแล้ว ยังมีลักษณะอื่นได้อีก ได้แก่
-
- แบบ Atonic คือ แรงกล้ามเนื้อหายไปทันที ตัวอ่อนฉับพลันทำให้เกิดอาการ ผงกหัว หรือ ล้มลงไปทันที สั้นๆโดยที่ไม่รู้ตัว
- แบบ Absence คือ ชักลักษณะเหม่อลอย จู่ๆก็เหม่อลอย นิ่งไป เรียกไม่รู้ตัว มักเป็นสั้นๆไม่เกิน 30 วินาที แล้วหยุดเอง หลังหยุดไม่ค่อยมีอาการสับสน มีสติตื่นรู้สึกตัวดี อาจจะเป็นได้หลายครั้งต่อวัน
สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง ?
โรคลมชักในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การติดเชื้อ,หลอดเลือดสมองผิดปกติ, โครงสร้างสมองผิดปกติ, พันธุกรรม และ บางส่วนหาสาเหตุไม่เจอหรือไม่มีสาเหตุ (Unknown)
กรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เด็กมีอาการชักด้วยหรือไม่ ?
พันธุกรรมเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคลมชักในเด็ก โดยมีความผิดปกติของยีน (Gene) บางตัวโดย ในกลุ่มนี้มักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก
หากมีอาการลมชักแบบแสดงอาการไม่ชัดเจนจะมีโอกาสพิการหรือเสียชีวิตมากกว่าปกติหรือไม่ ?
อาการลมชักลักษณะ Atonic (แรงกล้ามเนื้อหายไปทันที ตัวอ่อนฉับพลัน) มีโอกาสเกิดการล้มลงไปทันที (Sudden fall) เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ที่อันตรายคือศีรษะกระแทกแล้วมีเลือดออกภายในสมอง
วิธีการสังเกตอาการที่เข้าข่ายโรคลมชักและควรรีบมาพบแพทย์
ถ้าผู้ปกครองสังเกตเห็นอาการ ตัวอ่อนฉับพลัน (ผงกหัว หรือ ล้มลงไปทันที สั้นๆแล้วเด้งขึ้นมา โดยที่ไม่ได้มีอาการเวียนศีรษะ หรือหน้ามืดนำมาก่อน) หรือ อาการตาเหม่อลอย นิ่งไปเรียกไม่รู้ตัว เป็นสั้นๆไม่เกินนาที เป็นหลายครั้งต่อวัน ควรจะรีบพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา
หากเมื่อลูกมีอาการชัก พ่อแม่ต้องรับมือเบื้องต้นอย่างไร ?
ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการประคองเด็ก ให้นอนอยู่ในที่ ที่ปลอดภัย จัดท่านอนตะแคงข้าง ไม่ใส่สิ่งของใดๆ ก็ตาม
เข้าไปงัดปากเด็ก เพราะจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ จากนั้นให้รีบพาเด็กไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
วิธีป้องกันโรคนี้จะทำได้อย่างไร ?
โรคนี้ป้องกันไม่ได้ แต่สามารถป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่เกิดจากอาการชักได้ เช่น อาการชักลักษณะ Atonic ซึ่งเกิดการล้มแบบฉับพลันได้หลายครั้งต่อวันสามารถป้องกันการบาดเจ็บด้วยการใส่ Helmet (หมวกกันน็อค) เพื่อป้องกันศีรษะ/หน้ากระแทกและไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวควรอยู่ในสายตาผู้ใหญ่เสมอ
แนวทางการรักษาโรคลมชัก ?
การรักษาโรคลมชักหลักๆ คือ การใช้ยากันชัก รักษา เพื่อควบคุมให้อาการชักเป็นน้อยลงโดยต้องรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเองเพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ระยะเวลารับประทานยากันชัก อย่างน้อย 2 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้นแล้วแต่แพทย์ผู้รักษาพิจารณา
ดูแลโดยแพทย์ผู้เชียวชาญโรคระบบประสาทในเด็ก และมีเครื่องมือที่ทันสมัยในการวินิจฉัยและรักษาโรคระบบประสาทอย่างครบครัน เช่น เทคโนโลยีตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เทคโนโลยีตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองความเร็วสูง (CT Brain) และเทคโนโลยีตรวจสมองด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (MRI Brain)
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคระบบประสาทในเด็ก ได้ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ