หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

20 ม.ค. 2564 | เขียนโดย

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท: รู้ตัวทัน รักษาให้หายได้ไว

โดยปกติแล้ว หมอนรองกระดูกในร่างกายของเรา จะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ นั่นก็คือ Nucleus แกนกลางหมอนรองกระดูก และ Annulus โครงสร้างเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่ง Nucleus จะทำหน้าที่รับแรงกระแทก และกระจายน้ำหนักตัว ที่ส่งมายังกระดูกสันหลังในขณะที่เรากำลังเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วน Annulus จะทำหน้าที่ห่อหุ้ม Nucleus เอาไว้ ไม่ให้ปลิ้นออกมา และยังช่วยให้ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังมีความมั่นคง สามารถรับการเคลื่อนไหวในท่าทางต่าง ๆ ได้

 

ซึ่ง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือ คำที่ใช้เรียกรวมของการนูน เคลื่อน หรือแตกของ Nucleus จนไปกดทับเส้นประสาทโดยรอบ ที่แต่เดิมมีพื้นที่จำกัดอยู่แล้วให้แคบมากขึ้นกว่าเดิม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อม และเกิดอาการปวด ชา หรืออ่อนแรงได้

 

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือ หมอนรองกระดูกเสื่อม อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้

 

  • อายุที่มากขึ้น
  • น้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติ
  • การใช้งานที่ผิดลักษณะ เช่น การก้มเงยบ่อยเกินไป, การยกของหนัก และการบิดบริเวณกระดูกสันหลังซ้ำ ๆ
  • กรรมพันธุ์
  • การถูกกระแทกอย่างรุนแรง

 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะจะทำให้รู้สึกปวดร้าวและอ่อนแรง แต่ปัจจุบันนี้ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถรักษาได้ด้วยหลายวิธี ดังนั้นหากรู้ตัวทันว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ ก็จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่ตรงจุด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

 

หมอนรองกระดูกสันหลัง มีความสำคัญอย่างไร?

หมอนรองกระดูก เป็นอวัยวะที่ช่วยรองรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นระหว่างกระดูกสันหลัง และช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งหากเรามีการใช้งานที่ผิดท่า หรือขาดการดูแล ก็อาจทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อม และกลายเป็นอาการเจ็บปวดที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งถึงแม้ว่าโดยส่วนมากแล้วอาการนี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานของคนในปัจจุบัน ทำให้แม้แต่คนหนุ่มสาววัยทำงานที่มีอายุเพียง 25 ปี ก็มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นกัน

 

รู้ทันสัญญาณเตือน: อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีอะไรบ้าง?

อาการที่เกิดขึ้นจากกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามวัย สามารถพบได้หลากหลายตามตำแหน่งที่กดทับเส้นประสาท แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีอาการในทุกคน มีผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่อาจจะมีอาการแสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น ปวดร้าวลงขา ชา หรืออ่อนแรง ซึ่งหากใครที่มีอาการดังต่อไปนี้ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

 

  • มีอาการปวดร้าวลงแขนหรือขา
  • มีอาการชาหรืออ่อนแรง
  • มีอาการปวดเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ตลอดเวลา
  • มีอาการปวดเวลายืนหรือนั่งนาน ๆ

 

การตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัย

ในขั้นตอนแรก แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วย ซึ่งในขั้นนี้จะสามารถวินิจฉัยเบื้องต้นได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือไม่ แต่แพทย์ก็จะต้องนำส่งไป X-Ray หรือ MRI เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้วินิจฉัยได้ละเอียดมากขึ้น และจึงนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการตัดสินใจในการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

 

การรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หากใครที่สงสัยว่า ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จำเป็นต้องผ่าตัดไหม? ต้องบอกว่าวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยจะมีวิธีรักษาหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

 

  • การรักษาเบื้องต้น จะเริ่มจากการให้นอนพัก รับประทานยาลดปวด และทำกายภาพบำบัด หากยังมีอาการปวดอยู่จะมีการฉีดยาสเตอรอยด์เข้าที่บริเวณช่องกระดูกสันหลัง
  • การรักษาโดยการผ่าตัดในปัจจุบัน จะเน้นในการผ่าตัดแผลเล็กขึ้น เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อโดยรอบกระดูกสันหลัง ซึ่งจะช่วยลดการปวดหลังผ่าตัด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็วมากขึ้น

 

หลังผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท พักฟื้นกี่วัน ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

หลังจากการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะรู้สึกได้ว่าอาการปวดร้าวลงขานั้นดีขึ้นทันที และอาการชาจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพักฟื้นครบ 2 สัปดาห์ ก็จะสามารถกลับไปทำกิจกรรมเบา ๆ ได้ เช่น ขับรถ นั่งทำงาน และสามารถเดินได้ไกลขึ้น แต่ควรงดการยกของหนักในระยะนี้

 

เมื่อพักฟื้นได้ครบ 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มฟื้นฟูร่างกายเต็มที่ สามารถกลับไปออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่ควรมีการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อไม่ให้กลับมาเจ็บป่วยซ้ำ

 

สำหรับใครที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา หรือแนวทางการรักษาที่เหมาะสม สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคกระดูกสันหลังและข้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ เสรีรักษ์ หรือติดต่อ Call Center 02-761-9888

SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ