เนื้องอกต่อมหมวกไต (Adrenal tumor)

24 ก.พ. 2565 | เขียนโดย เนื้องอกต่อมหมวกไต

เนื้องอกต่อมหมวกไต  (Adrenal tumor/ Adrenal gland tumor)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ต่อมหมวกไตเจริญเกินปกติ โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญนี้ได้



เนื้องอกต่อมหมวกไต  (Adrenal tumor/ Adrenal gland tumor)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ต่อมหมวกไตเจริญเกินปกติ โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญนี้ได้ จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นในต่อมหมวกไต ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการ แต่ประมาณ 10-15%ของเนื้องอกนี้จะสร้างฮอร์โมนกลุ่มเดียวกับฮอร์โมนต่อมหมวกไต จึงส่งผลให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนกลุ่มนี้ในเลือดสูงเกินปกติจนก่ออาการผิดปกติต่างๆขึ้น ซึ่งอาการจะแตกต่างกันตามชนิด/หน้าที่ของฮอร์โมนนั้นๆ เช่น มีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ถ้าเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนควบคุมความดันโลหิต เป็นต้น

เนื้องอกต่อมหมวกไตสามารถพบทุกวัย แต่จะพบสูงขึ้นในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ทั้งชายและหญิง ในสัดส่วนที่เท่าๆกัน

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้องอกต่อมหมวกไต?

ปัจจุบัน ยังไม่พบสาเหตุปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกต่อมหมวกไตทั้งชนิดเนื้องอกทั่วไปและชนิดเนื้องอกมะเร็ง แต่มีรายงานพบเนื้องอกต่อมหมวกไตได้สูงขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มพบได้น้อยมากๆที่มีพันธุกรรมผิดปกติที่ทำให้เกิดเนื้องอกขึ้นพร้อมๆกันหลายๆอวัยวะในร่างกาย เช่น ที่ต่อมพาราทรอยด์ ต่อมหมวกไต ตับอ่อน และต่อมใต้สมอง ที่เรียกว่าโรค MEN1(Multiple endocrine neoplasia type1)

เนื้องอกต่อมหมวกไตมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของเนื้องอกต่อมหมวกไต คือ จะไม่มีอาการ(พบประมาณ 85-90%ของผู้ป่วย) แต่แพทย์ตรวจพบเนื้องอกนี้โดยบังเอิญจากการตรวจช่องท้องในโรคต่างๆด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน, และ/หรือเอมอาร์ไอ เช่น กรณี ไส้ติ่งอักเสบ อุบัติเหตุช่องท้อง โรคไต โรคตับ เป็นต้น

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ: จะเป็นอาการจากมีฮอร์โมนผิดปกติที่เนื้องอกนี้เป็นชนิดสร้างฮอร์โมน(พบเนื้องอกกลุ่มนี้เพียงประมาณ10-15%) แต่จะไม่มีอาการจำเพาะ โดยอาการจะแตกต่างในแต่ละผู้ป่วยตามชนิดฮอร์โมนที่เนื้องอกนั้นๆสร้างขึ้น เช่น

  • ความดันโลหิตสูง กรณีเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนควบคุมระดับเกลือแร่ หรือความดันโลหิตของร่างกาย
  • น้ำตาลในเลือดสูง กรณีเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

เมื่อใดควรพบแพทย์?

เนื่องจากต่อมหมวกไตเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกและส่วนใหญ่เนื้องอกต่อมหมวกไตขนาดไม่โตมาก ดังนั้นทั่วไป ส่วนใหญ่ของเนื้องอกนี้ จึงมักไม่มีอาการ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจช่องท้องในโรคต่างๆ

นอกจากนั้น กรณีที่เนื้องอกนี้สร้างฮอร์โมน ผู้ป่วยก็จะมาพบแพทย์ด้วยอาการจากร่างกายมีฮอร์โมนเหล่านั้นในเลือดสูงเกินปกติ เช่น

  • ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก กรณีเป็นเนื้องอกกลุ่ม ฟีโอโครโมไซโตมา
  • มีขนดก และ/หรือ มีอาการของโรคกลุ่มอาการคุชชิง กรณีเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตส่วนนอก

ดังนั้น ในการพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงใช้หลักทั่วไปได้คือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงหลังการดูแลตนเองในเบื้องต้นภายในระยะเวลาประมาณ 7-10วัน ควรรีบมาพบแพทย์

แพทย์สามารถวินิจฉัยเนื้องอกต่อมหมวกไตได้อย่างไร?

เนื้องอกต่อมหมวกไตเป็นโรควินิจฉัยค่อนข้างยาก แต่หลักในการวินิจฉัยจะเช่นเดียวกับการวินิจฉัยทุกโรค คือ

  • ซักถามประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบันและในอดีต ยาต่างๆที่กำลังใช้อยู่
  • ตรวจสัญญาณชีพ
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดทั่วไปเพื่อดู การทำงานของไขกระดูก/ตรวจซีบีซี, การทำงานของ ตับ, ของไต,
  • การตรวจปัสสาวะ
  • และเมื่อตรวจพบความผิดปกติ อาจมีการสืบค้นเพิ่มเติมโดยเฉพาะเมื่อสงสัยโรคของต่อมหมวกไต คือ การตรวจภาพช่องท้องด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน, และ/หรือเอมอาร์ไอ

การรักษาเนื้องอกต่อมหมวกไต

หลักการรักษาเนื้องอกต่อมหมวกไต แพทย์จะประเมินวิธีรักษาจากปัจจัยสำคัญ คือ

  • อาการผู้ป่วย
  • ประวัติเป็นโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
  • ขนาดก้อนเนื้อและลักษณะทางรังสีวิทยาของก้อนเนื้อที่ตรวจด้วยซีทีสแกน และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
  • และถ้าจำเป็น อาจต้องตัดชิ้นเนื้อเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
SHARE
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่นๆ