วัคซีนสำหรับเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดต้องฉีดอะไรบ้าง

>4 ก.ย. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

วัคซีนในเด็กแต่ละช่วงวัย ต้องฉีดอะไรบ้าง?

 

เด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับวัคซีนสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิด เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านทานโรคต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้มีการคิดค้นวัคซีน (Vaccine) ที่ช่วยในการป้องกันโรคสำหรับเด็กได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเข้ามาปรึกษากุมารแพทย์ที่ดูแลอยู่ ทั้งการฉีดวัคซีนเด็กพื้นฐาน หรือการฉีดวัคซีนทางเลือกที่จำเป็นแต่ละชนิดที่ลูกควรได้รับตามวัย

 

วัคซีนสำหรับเด็ก(พื้นฐาน)

วัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็ก หมายถึง วัคซีนที่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เด็กไทยทุกคน ต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน เพื่อป้องกันโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพที่สำคัญ และสร้างเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันตามช่วงวัย ดังนี้

 

 

วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG Vaccine)

เป็นวัคซีนทารกที่ฉีดให้เด็กทุกคนก่อนออกจากโรงพยาบาล โดยจะทำการฉีดที่ใต้ผิวหนัง บริเวณต้นแขน (หัวไหล่ด้านซ้าย) หรือที่สะโพกด้านซ้าย แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละโรงพยาบาล

หลังการฉีดจะไม่มีแผลในระยะแรก แต่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะเห็นเป็นตุ่มแดงบริเวณที่ฉีด ซึ่งอาจจะมีหนองหรือไม่มีหนองก็ได้ ในช่วงนี้ขอแนะนำให้ดูแลโดยเช็ดผิวหนังบริเวณนั้นให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ และทำความสะอาดด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดทุกครั้งที่เปียกชื้น จะช่วยให้ตุ่มค่อย ๆ แห้งได้ ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะหายไปเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวล

 

วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine : HBV)

เป็นวัคซีนในเด็กที่ต้องได้รับทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด เข็มที่สองเมื่ออายุครบ 1 เดือน และเข็มสุดท้ายเมื่อเด็กครบ 6 เดือน

หลังฉีดอาจพบว่ามีอาการปวด บวม แดงเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด และจะหายเป็นปกติได้เอง

 

วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Diphtheria, Tetanus, Pertussis : DPT)

เป็นวัคซีนสำหรับเด็กที่จะทำการฉีดชุดแรกทั้งหมด 3 ครั้ง โดยจะฉีดเมื่อเด็กอายุครบ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน หลังจากนั้น ควรมีการฉีดอีกชุด เพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน และอีกชุดเมื่อมีอายุ 4-6 ปี และสุดท้ายคือในช่วงอายุ 11-12 ปี

 

วัคซีนโปลิโอ (Polio)

เป็นวัคซีนในเด็กที่ป้องกันโรคโปลิโอ โดยใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดร่วมกับรูปแบบกิน โดยเด็ก ๆ จะได้รับการหยอดวัคซีนโปลิโอรูปแบบกินจำนวน 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2 , 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี และต้องได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน 1 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน

 

วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles mumps rubella vaccine : MMR)

เป็นวัคซีนรวมสำหรับเด็ก 3 ชนิดที่ป้องกันโรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคคางทูม โดยทำการฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุครบ 2 ปี 6 เดือน

 

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis virus : JE)

เป็นวัคซีนที่จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเจอี ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อโรคไข้สมองอักเสบเจอี โดยจะทำการฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรก ตอนอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน

 

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)

เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ โดยควรฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ก่อนอายุ 9 ปี ต้องฉีดวัคซีนนี้ทั้งหมด 2 เข็ม และเข็มที่สองเว้นห่างจากเข็มที่ 1 นาน 4 สัปดาห์ และหลังจากนั้นให้ฉีดทุกปีก่อนฤดูกาลระบาด ปีละ 1 ครั้ง

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในเด็กเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการเฉพาะในบริเวณที่ฉีด เช่น ปวด บวม แดง มีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและหายได้เองภายในไม่กี่วัน

 

วัคซีนเอชพีวี (HPV)

เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด ได้ถึง 70-90 % ควรฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป โดยให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์

 

 

วัคซีนอื่น ๆ หรือวัคซีนเสริม เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรค

นอกจากวัคซีนขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญสำหรับเด็ก ๆ แล้ว ยังมีวัคซีนสำหรับเด็กเพิ่มเติมเพื่อเสริมภูมิต้านทานโรคให้ครอบคลุมขึ้น โดยวัคซีนเสริมที่แนะนำ มีดังนี้

 

วัคซีนโรต้าไวรัส (Rotavirus)

เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยวัคซีนชนิด PCV ควรฉีดในช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 1 ปี ถึง 1 ปี 3 เดือน

 

วัคซีนนิวโมคอคคัส ( Invasive Pneumococcal Disease : IPD)

เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยวัคซีนชนิด PCV ควรฉีดในช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 1 ปี ถึง 1 ปี 3 เดือน

 

วัคซีนฮิบ  (Haemophilus influenzae type b Vaccine)

เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (Hemophilus influenzae type B) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงในเด็กเล็ก เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดอักเสบ โรคข้ออักเสบ และโรคหูชั้นกลางอักเสบ

วัคซีนฮิบ เป็นวัคซีนที่อยู่ในวัคซีนชนิดรวม 1 เข็ม ป้องกันได้ 5 โรค คือ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ โดยฉีด 3 ครั้ง ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน

 

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส  (Varicella vaccine)

เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ทำให้เกิดผื่นตุ่มน้ำใสและคัน โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี หรือถ้ามีการระบาดของโรคสามารถฉีดเช็มที่สองก่อนได้ แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน

 

วัคซีนไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ (Hepatitis A Vaccine)

เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ (Hepatitis A virus, HAV) ที่ทำให้เกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลัน โดยทำการฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป

 

วัคซีนไข้เลือดออก (Dengue Vaccine)

เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ ที่ต้องฉีด 2 เข็ม โดยห่างกัน 3 เดือน เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4 – 60 ปี โดยไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดดูระดับภูมิคุ้มกันก่อนฉีด รวมถึงจะเคยเป็นหรือไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อนก็ฉีดได้ ช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ครอบคลุมถึง 4 สายพันธุ์

 

 

ข้อควรรู้สำคัญเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก

  • นำสมุดบันทึกสุขภาพของเด็ก หรือสมุดวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจดูประวัติสุขภาพ และลงบันทึกติดตามการรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด
  • วัคซีนบางชนิดต้องให้มากกว่า 1 ครั้ง และอาจต้องฉีดอีกเป็นครั้งคราว จึงจะได้ผลในการป้องกันโรคได้เต็มที่ อย่าลืมพาเด็กมารับวัคซีนตามกำหนดนัด
  • เมื่อถึงกำหนดนัด ถ้าเด็กมีไข้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าอาการไข้จะหาย
  • ถ้าไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามนัด ควรพาเด็กไปรับวัคซีนให้ครบ ไม่ว่าจะเว้นห่างไปนานเท่าใดก็ตาม ก็สามารถมารับวัคซีนให้ต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
  • ถ้าเด็กเคยมีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีน เช่น ชัก ไข้สูงมาก บวม แดง บริเวณที่ฉีด มีผื่นลมพิษขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดวัคซีนครั้งต่อไป
  • หลังฉีดวัคซีน ควรนั่งพักรอเพื่อสังเกตอาการแพ้วัคซีนที่โรงพยาบาล อย่างน้อย 30 นาที

สามารถทำการนัดหมายกับกุมารแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อปรึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย
รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE
ข้อเสนอดีๆที่แนะนำ