โรต้าไวรัส คือ อะไรกันนะ??

>16 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

Rotavirus คืออะไร

โรต้าไวรัส เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการ ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปริมาณมาก มักมีอาการอาเจียน มีไข้และปวดท้องร่วมด้วย

Rotavirus คำว่า Rota- มาจากภาษาละติน ที่แปลว่า กงล้อ เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้ มีขนาดเล็กและรูปร่างเหมือนกงล้อ เชื้อตัวนี้ถูกค้นพบมายาวนานตั้งแต่ปี 1973 เนื่องจากในสมัยนั้นเริ่มมีการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแล้ว และถูกพบว่าเป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียในเด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ มีอายุน้อยกว่า 2 ปีจะมีอาการรุนแรง ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในบางรายอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนในผู้ใหญ่ก็สามารถติด เชื้อ Rotavirus นี้ได้เช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าในเด็กเล็ก มีเพียงบางรายเท่านั้นที่มี อาการรุนแรงมาก

 

 Rotavirus พบในสภาพแวดล้อมแบบไหนได้บ้าง

เชื้อเจริญเติบโตได้ดีและทนต่อสภาพแวดล้อมได้นานในที่แห้งและเย็น จึงพบมาก ขึ้นในฤดูหนาว และพบในสถานที่ที่มีคนอาศัยอยู่รวมกันมาก ๆ เช่น โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทำให้เกิดการระบาดได้

 

Rotavirus มีการแพร่ระบาดอย่างไร

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรต้า มีการแพร่ระบาดผ่านการปนเปื้อนเชื้อในอาหาร น้ำดื่ม การสัมผัส เข้าทางปาก จากนั้นเชื้อจะ ไปเจริญอยู่ที่ผนังลำไส้ ก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้ ทำให้ไม่สามารถ ดูดซึมน้ำหรือสารอาหารได้ เกิดเป็นอาการท้องเสียฉับพลัน และสามารถแพร่ กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้ทางอุจจาระ หรือที่เรียกว่า fecal-oral  route  ยกตัวอย่าง เช่น หากผู้ป่วยมีอาการอุจจาระร่วงแล้วล้างมือไม่สะอาด มีเชื้อปนเปื้อนที่มือ แล้ว มาหยิบจับสิ่งของหรืออาหาร ผู้ที่หยิบจับสิ่งของหรืออาหารต่อจากผู้ป่วยก็มี โอกาสรับเชื้อผ่านเข้าทางปากได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เนื่องจาก ช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการอุจจาระร่วงจะมีเชื้อไวรัส โรต้าออกมาด้วยปริมาณมาก แต่ปริมาณเชื้อเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพียงไม่กี่ตัวก็ ทำให้เกิดโรคได้ ซึ่งเชื้อนี้ทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี และสามารถมีชีวิตอยู่ บนมือเราได้นานประมาณ 1ชั่วโมงเลยทีเดียว


ทำไมผู้ใหญ่ จึงติดเชื้อ
Rotavirus

โดยทั่วไปโรคนี้สามารถเป็นได้ทุกวัย แต่ในเด็กจะมีอาการรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กต้องนอนโรงพยาบาล จึงมีการส่งตรวจหาการติดเชื้อไวรัสนี้ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เด็กท้องเสีย ส่วนในผู้ใหญ่นั้นเมื่อได้รับเชื้อบางรายไม่มีอาการ บางรายมีอาการเล็กน้อย เช่น ท้องเสียไม่กี่ครั้ง ปริมาณไม่มาก ก็สามารถหายเองได้ ทำให้ไม่มีการตรวจหาเชื้อนี้ในผู้ใหญ่ อีกทั้งสาเหตุที่ทำให้อุจจาระร่วงใน ผู้ใหญ่นั้นมีหลายสาเหตุ แต่ในช่วงฤดูหนาว อาจพบว่ามีการระบาดของโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า ทำให้พบอัตราป่วยด้วยโรคนี้ในเด็ก และในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นทุกวัย  ซึ่งสาเหตุคาดว่าเกิดจากเป็นช่วงฤดูหนาวทำให้เชื้อเจริญ เติบโตและทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยง่ายขึ้น จึงทำให้พบอัตราการติดเชื้อไวรัสนี้ในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย

 

อาการจากไวรัสโรต้า

–  ท้องร่วงอย่างรุนแรง และถ่ายเป็นน้ำ อาจถ่ายบ่อยได้ 7 -8  ครั้ง / วัน
–  มีไข้ อาจเป็นไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส
–  อาเจียน อาจบ่อยถึง 7 – 8 ครั้ง / วัน
–  เด็กบางคน อาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเสียได้มากกว่า 20 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง

 อันตรายจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า

การติดเชื้อจนทำให้มีอาการรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย รุนแรง คือ ถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมาก อาจจะถึง 10-20 ครั้งต่อวัน ไม่สามารถรับ ประทานอาหารหรือน้ำได้เลย จนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย บาง รายเกิดภาวะช็อค เป็นสาเหตุให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานล้มเหลว เช่น ไตวายเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก หรือ ผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

แนวทางในการรักษาเป็นอย่างไร

ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะเจาะจงในการขจัดเชื้อไวรัสนี้ การรักษาจึงเป็นการ ดูแลรักษาตามอาการและการให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทน ในรายที่อาการไม่รุนแรง สามารถรับประทานเองได้ จะใช้วิธีดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชย (โอ อาร์ เอส) เลือกรับ ประทานอาหารอ่อน และยาบรรเทาอาการ

 

ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก อาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลวตลอด ก็อาจ เกิดอันตรายจากการขาดน้ำทำให้เกิดภาวะช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ จึง ควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวใน ร.พ. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดู อาการอย่างใกล้ชิด

 

หากมีคนติดแล้วซื้อยามากินเองจะมีผลเสียอย่างไร

การซื้อยารับประทานเองจากอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น การดื่มน้ำเกลือแร่ ชดเชย หรือ ยาพาราเซตามอล แก้ปวดลดไข้ สามารถทำได้ในเบื้องต้น แต่ไม่ ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง เนื่องจาก โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าไม่ได้ใช้ยาปฏิชีวนะรักษา การซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานจึงเป็นการรับประทานยาไม่ตรงกับโรค และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ซึ่งหากผู้ป่วยดูแลตนเองใน เบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและรับการรักษาตาม คำแนะนำของแพทย์

 

โรต้าไวรัส ป้องกันได้ ด้วยวัคซีน

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโรต้าไวรัสแล้ว แต่เป็นวัคซีนที่ใช้เฉพาะในเด็กเล็กเท่านั้น มี 2 ประเภท คือแบบให้ 2 ครั้ง และแบบให้ 3 ครั้ง
** แบบให้ 2 ครั้ง แนะนำให้หยอดวัคซีนนี้ ตอนอายุ 2 เดือนและ 4 เดือน
** แบบให้ 3 ครั้ง แนะนำให้หยอดวัคซีนนี้ ตอนอายุ 2 , 4 และ 6 เดือน ตามลำดับ
แนะนำปรึกษากุมารแพทย์ก่อนรับวัคซีน

 

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การใส่ใจในสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลด ปัญหาการติดเชื้อนี้ได้ รวมถึงลดโอกาสการติดเชื้อโรคท้องร่วงท้องเสียอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากการล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่บ่อย ๆ ครั้งละประมาณ 15-20 วินาที จะช่วย ชะล้างเชื้อโรคและสิ่งสกปรกออกจากมือของเรา เชื้อ Rotavirus นั้นไม่สามารถใช้ แอลกอฮอล์เจลแทนการล้างมือได้  เพราะเป็นไวรัสกลุ่ม  non-enveloped  virus  ซึ่ง ไวรัส กลุ่มนี้จะทนต่อ กรด ต่อแอลกอฮอล์

 

การป้องกันอื่น ๆ คือ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำและอาหารที่ไม่สะอาด ล้างผักและผลไม้ก่อน รับประทานอาหารเสมอ ปรุงอาหารให้สุก ในบ้านที่มีเด็กหรือผู้ป่วยทิ้งเศษอาเจียนและ อุจจาระอย่างระมัดระวังโดยใช้ผ้าชุปน้ำหมาด ๆ ซับไม่ให้มีการฟุ้งกระจาย และทิ้งลงใน ถุงพลาสติกก่อน ผู้ป่วยควรงดการประกอบอาหารเพราะจะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หลีกเลี่ยงการ เดินทางจนกว่าจะหายดี

 

พบกุมารแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์กุมารเวช ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE