วิธีเคาะปอดเพื่อขับเสมหะ

>5 มี.ค. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

การขับเสมหะออกจากปอดและหลอดลม

 

ต้องอาศัยองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  1. การจัดท่าผู้ป่วย (Postural drainage)
  2. การเคาะ (Percussion)
  3. การสั่นสะเทือน (Vibration)
  4. การไออย่างมีประสิทธิภาพ (Effective cough)

 

หลักการทั่วไปในการเคาะปอด

  1. การจัดท่าเพื่อระบายเสมหะ เป็นวิธีการที่อาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก (gravity) เป็นหลัก โดยจัดให้ส่วนของปอดที่ต้องการระบาย อยู่เหนือกว่าหลอดลม และปาก ทำให้เสมหะไหลออกจากหลอดลมเล็กสู่หลอดลมใหญ่ และถูกขับออกโดยกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอ และบ้วนเสมหะ
  2. การเคาะ (Percussion) ใช้อุ้งมือไม่ควรใช้ฝ่ามือ โดยทำมือให้เป็นลักษณะคุ้ม นิ้งแต่ละนิ้วชิดกันที่เรียกว่า cupped hand เคาะบริเวณทรวงอกส่วนที่ได้รับการจัดท่า
  3. ใช้ผ้ารองบนส่วนที่จะเคาะ
  4. การเคาะแต่ละท่าควรใช้เวลาประมาณ 1 นาที
  5. ขณะเคาะหากผู้ป่วยไอควรหยุดเคาะ ให้ใช้การสั่นสะเทือนแทน โดยการใช้มือวางราบพร้อมทั้งเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน และหัวไหล่ ในจังหวะการหายใจเข้าเต็มที่ และกำลังหายใจออก
  6. ฝึกการไอให้มีประสิทธิภาพ โดยให้ผู้ป่วยหายใจเข้าเต็มที่ช้าๆ กลั้นไว้สักครู่ และไอออกมาโดยเร็วและแรง
  7. ควรเคาะก่อนรับประทานอาหาร หรือขณะท้องว่าง หรือหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักและอาเจียน

 

 

ท่าทางที่ใช้ในการระบายเสมหะออกจากปอดและหลอดลม

ปอดส่วนบน (Upper lobes)

รูปที่ 1 ปอดส่วนบนด้านยอด (Apical segment)

นั่งตัวตรงเอนไปด้านหลังประมาณ 30 องศา เคาะบริเวณหัวไหล่ ระหว่างกระดูกต้นคอ และกระดูกสะบัก

 

รูปที่ 2 ปอดส่วนบนด้านหลัง (Posterior segment)

นั่งตัวตรงเอนไปด้านหน้าประมาณ 30 องศา ใช้หมอนสอดไว้ใต้ท้อง เคาะ และสั่นสะเทือนบริเวณบ่าด้านหลัง

 

รูปที่ 3 ปอดส่วนบนด้านหน้า (Anterior segment)

ให้ผู้ป่วยนอนหงายราบ ใช้หมอนสอดใต้เข่า เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าสบาย เคาะบริเวณหน้าอกด้านหน้าช่วงบน ทั้ง 2 ข้าง

 

รูปที่ 4 ปอดส่วนบนด้านซ้าย (Lingular segment)

จัดเตียงผู้ป่วยให้ยกส่วนปลายสูง 14 นิ้ว หรือ 15 องศา ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง ทับด้านขวา ดดยแนไปด้านหลังประมาณ ¼ ใช้หมอนรองส่วนหลังบริเวณหัวไหล่จนถึงสะโพก งอเข่าเล็กน้อย เคาะบริเวณราวนมด้านซ้าย

 

ปอดส่วนกลาง (Middle lobes)

รูปที่ 5 ปอดส่วนกลางด้านขวา (Right middle lobes)

จัดเตียงผู้ป่วยให้ยกส่วนปลายสูงจากพื้น 14 นิ้ว หรือ 15 องศา ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงหันด้านหน้า และเอาหน้าอกด้านขวาขึ้นเอนไปด้านหลัง ¼ ใช้หมอนสอดบริเวณหัวไหล่ถึงสะโพก งอเข่าทั้ง 2 ข้างเล็กน้อย เคาะบริเวณราวนมด้านขวา

 

ปอดส่วนล่าง (Lower lobes)

รูปที่ 6 ปอดส่วนล่างด้านหน้า (Anterior basal segment)

จัดเตียงผู้ป่วยให้ส่วนปลายสูงจากพื้น 18 นิ้ว หรือ 30 องศา โดยให้ผู้ป่วยตะแคงศีรษะต่ำ มีหมอนหนุนบริเวณเข่า (ในรูปเป็นการระบายเสมหะจากปอดซ้าย ถ้าต้องการระบายจากปอดด้านขวาให้นอนทับซ้าย และเอาหน้าอกด้านขวาขึ้น) เคาะหน้าอกด้านซ้าย บริเวณซี่โครงด้านล่าง

 

รูปที่ 7 ปอดส่วนล่างด้านข้าง (Lateral basal segment)

จัดเตียงผู้ป่วยให้ส่วนปลายสูงจากพื้น 18 นิ้ว หรือ 30 องศา จัดให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ศีรษะต่ำ จากนั้นเอนขึ้นมา ¼ ให้หมอนรองสอดบริเวณต้นขา โดยให้ขางอเล็กน้อย เคาะบริเวณชายโครงส่วนล่างค่อนมาทางด้านข้าง

 

รูปที่ 8 ปอดส่วนล่างด้านหลัง (Posterior basal segment)

จัดเตียงผู้ป่วยให้ส่วนปลายสูงจากพื้น 18 นิ้ว หรือ 30 องศา ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ศีรษะต่ำ ให้หมอนรองสอดบริเวณสะโพก เคาะบริเวณซี่โครงสุดท้ายใกล้กับกระดูกสันหลัง ทั้ง 2 ข้าง

 

รูปที่ 9 ปอดส่วนล่างด้านบน (Superior segment)

ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำใช้หมอน 2 ใบ รองบริเวณสะโพก เคาะและสั่นสะเทือนบริเวณกลางหลังตรงส่วนต้นของกระดูกสะบักทั้ง 2 ข้าง

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคระบบางเดินหายใจ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE