ภาวะตัวเตี้ยในเด็ก

>25 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

เด็กตัวเตี้ยหมายถึง เด็กที่มีความสูงน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 3 เทียบกับอายุ เพศและเชื้อชาติเดียวกันรวมถึงภาวะที่มีอัตราการเพิ่มของความสูงน้อยกว่าปกติ

 

สาเหตุของภาวะตัวเตี้ย สามารถจำแนกตามสาเหตุได้ดังนี้

  1. ตัวเตี้ยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพ เป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อยและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใดๆ เนื่องจากมีอัตราการเพิ่มความสูงที่ปกติ ได้แก่
    • ตัวเตี้ยตามพันธุกรรม หมายถึง เด็กที่มีความสูงตามศักยภาพทางพันธุกรรมที่ได้รับจากบิดามารดา
    • ตัวเตี้ยจากการเป็นหนุ่มสาวช้าหรือที่เรียกกันว่า “ม้าตีนปลาย” ภาวะนี้มักพบในเด็กผู้ชาย และมีประวัติเป็นหนุ่มสาวช้าในบิดาหรือมารดา ผู้ป่วยกลุ่มนี้แรกเกิดมีน้ำหนักและความยาวปกติ ความสูงจะเริ่มเบี่ยงเบนไปน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 3 เมื่ออายุ 2-3 ปี อายุกระดูกมักล่าช้ากว่าอายุจริง 1-2 ปี แต่เท่ากับอายุความสูง อัตราการเพิ่มความสูงจะปกติ เด็กมักเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้าเหมือนกรรมพันธุ์ แต่มี growth spurt ช่วงวัยรุ่นปกติ ทำให้ความสูงสุดท้ายปกติตามศักยภาพของพันธุกรรม
  2. ตัวเตี้ยที่ตรวจพบพยาธิสภาพ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้

2.1 ขาดสารอาหาร

2.2 โรคเรื้อรังต่างๆ อาทิเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง รวมถึงโรคธาลัสซเมียที่ทำใหเกิดภาวะโลหิตจางเรื้อรัง

2.3 ภาวะเตี้ยจากโรคกระดูกซึ่งอาจจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือเป็นโรคกระดูกอ่อนจากการขาดวิตามินดีหรือฟอสเฟต โดยลักษณะเด่นของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีแขนขาสั้นผิดปกติ

  • ภาวะเตี้ยจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เกิดจากการขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรือไทรอยด์ฮอร์โมน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตัวเตี้ยแต่ไม่ผอม เมื่อเอกซเรย์อายุกระดูกจะพบว่าช้ากว่าอายุจริง
  • โรคทางพันธุกรรมต่างๆ เช่นเทอร์เนอร์ซินโดรม พราเดอร์-วิลลี่ ซินโดรม

 

ขั้นตอนการวินิจฉัยหาสาเหตุ

  • ซักประวัติ ความสูงของบิดามารดาเพื่อคำนวณความสูงเฉลี่ยของบิดามารดา ประวัติเป็นหนุ่มสาวช้าในครอบครัวและปริมาณสารอาหารที่ผู้ป่วยได้รับในแต่ละวัน
  • ตรวจร่างกาย ดูลักษณะผิดปกติที่เข้าได้กับโรคทางพันธุกรรม วัดอัตราส่วนความยาวลำตัวต่อความยาวแขนขา ประเมินลักษณะของอาการแสดงของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ประเมินกราฟการเจริญเติบโตและอัตราการเพิ่มของความสูง
  • เอกซเรย์อายุกระดูก เพื่อประเมินว่าล่าช้ากว่าอายุจริงหรือไม่
  • ตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อประเมินหาโรคเรื้อรังต่างๆ และวัดระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือด
  • พิจารณาทำการทดสอบเพื่อประเมินภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต ในกรณีที่แพทย์สงสัยภาวะนี้

 

การรักษาภาวะตัวเตี้ยในเด็ก

ผู้ที่มีภาวะตัวเตี้ยควรได้รับการรักษาตามสาเหตุ ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต รักษาได้โดยการฉีดฮอร์โมนเข้าใต้ผิวหนัง จะทำให้ความสูงเพิ่มขึ้นได้ 8-10 ซม.ใน 1 ปีแรกหลังเริ่มรักษา
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน สามารถรักษาได้โดยการรับประทานไทรอยด์ฮอร์โมนเสริม
  • ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินดี รักษาโดยให้วิตามินดีเสริมและให้แคลเซียมเสริมในปริมาณความต้องการตามอายุ
  • ผู้ป่วยที่บริโภคอาหารที่มีแคลเซียมไม่พียงพอตามความต้องการตามอายุ ควรได้รับแคลเซียมเสริม
  • สอนให้ผู้ป่วยออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ #คลิ๊กเลย

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE