ความเจ็บปวดในเด็ก

>20 ก.ค. 2563 | เขียนโดย นพ.ชาตรี เรืองฤทธิ์นำชัย ชำนาญการด้านโรคหัวใจในเด็ก

ความปวดที่พบในเด็ก สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนถึงเด็กโต อาจพบได้ดังนี้

  • ความปวดในชีวิตประจำวัน

ส่วนมากพบจากการเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก มักจะพบเป็นบาดแผลฟกช้ำตามร่างกาย พบได้บ่อยในเด็กที่เริ่มหัดเดิน ในวัยเตาะแตะ ส่วนวัยรุ่นมักพบจากการเล่นกีฬา ส่วนมากจะไม่พามาพบแพทย์ ยกเว้นบางรายที่ผู้ปกครองมีความวิตกกังวลใจ ว่าบาดแผลฟกซ้ำนั้นอาจจะมีผลต่ออวัยวะภายใน หรืออาจจะมีกระดูกแตกหักได้ หรือกรณีที่แผลฟกช้ำไม่หายเป็นอาทิตย์ อาจจะจำเป็นต้องพามาพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดเพิ่มเติม

  • ความปวดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน

ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น การงอกของฟัน ฟันผุ เด็กบางคนอาจจะมีความรู้สึกปวด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยของร่างกาย จากการเป็นหวัด ส่วนใหญ่มักจะบอกพ่อแม่ว่าปวดศีรษะ ปวดหูจากหูอักเสบ ส่วนหลอดลมอักเสบมักจะบ่นเรื่องเจ็บหน้าอก เนื่องจากไอมาก และในเด็กบางราย อาจจะบ่นเจ็บปวดไม่ชัดเจนและอาจจะมีอาการกระวนกระวายโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งอาจจะเป็นอาการของการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ความเจ็บปวดในกรณีนี้มักจะไม่หายเอง ควรพามาพบแพทย์

  • ความเจ็บปวดการเป็นโรคเรื้อรัง

เป็นความเจ็บปวดที่ปวดคงที่ตลอดเวลา หรือเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้งใน 3 เดือน ส่วนมากพบในเด็กที่เป็นโรครุนแรง เช่น กรณีที่เป็นมะเร็ง โรคเอดส์ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวของโรคเอง หรือเป็นผลข้างเคียงจากการให้การรักษา จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

  • ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

ตัวอย่างเช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ปวดแขนขา(ปวดจากการเจริญเติบโต) ปวดหลัง ปวดหน้าอก อาการเหล่านี้มักเป็นไม่มาก แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ หรือปวดจนทนไม่ได้ ควรจะพามาพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด โดยเฉพาะอาการปวดท้องเด็ก ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ในปัจจุบันพบบ่อยมาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอาหารเป็นพิษ หรือท้องผูกในเด็ก เป็นผลจากค่านิยมในการรับประทานอาหารแบบฝรั่ง ไม่ค่อยทานผักหรือผลไม้ ในกรณีนี้ถ้าผู้ปกครองให้การดูแลแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัดต่อไป

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE