ของเล่น กับ การเล่น เล่นอย่างไรให้ดี และปลอดภัย

>10 ก.ย. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

เรามาทำความรู้จักคำว่า  ของเล่น กับ การเล่น (Play and Toys) กันก่อนว่าทั้งสองคำนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร

 

ของเล่น (Toys)

คือ สิ่งของที่ให้เด็กเล่น เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน

การเล่น (Play)

เป็นหัวใจของการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก เด็กมีการเรียนรู้ผ่านการเล่น ทุกครั้งที่เด็กเล่นจะเป็นการเรียนทีมีความสนุกสนาน การเล่นจะช่วยให้เด็กรู้จักศักยภาพของตัวเอง เกิดการพัฒนาทักษะด้านต่างๆผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ การมองเห็น การจับสัมผัส การชิมเพื่อรับรส การดมกลิ่น และการฟังเสียงต่างๆ

 

สิ่งสำคัญของการเล่น

พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู เป็นบุคคลที่สำคัญต่อการเล่นของเด็กๆ โดยพ่อแม่ควรเข้าใจลูก มีเวลาในการเล่นกับลูก ให้ความรักความเอาใจใส่ ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับของเล่นตามลำพัง การเล่นกับลูกแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้ของเล่นเกิดประโยชน์ และมีคุณค่าสูงสูดต่อเด็ก

 

ประโยชน์ที่ได้จากการเล่น

  • ได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
  • ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือ ทักษะใหม่ๆ
  • ได้ฝึกการแก้ไขปัญหา
  • ได้ฝึกการใช้สายตามองเพื่อประสานกับการใช้มือ (Eye – Hand Coordination)
  • ได้ใช้กล้ามเนื้อแขนขาให้แข็งแรง
  • ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มาเล่นด้วย

 

การเลือกของเล่น

การเลือกของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะเด็กอาจะไม่สนใจของเล่นที่พ่อแม่เห็นว่าเหมาะกับลูก โดยหลักการของเล่นที่ดี คือ ของเล่นที่เด็กสนใจที่จะเล่น เล่นแล้วเล่นอีก ไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นที่ทันสมัยหรือราคาแพง อาจให้เด็กมีโอกาสได้เลือกของเล่นตามความชอบของตัวเอง หรือพิจารณาของเล่นให้เหมาะกับวัยและระดับพัฒนาการ สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีความปลอดภัย หาง่าย เล่นแล้วส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก ไม่เลือกของเล่นตามคำโฆษณา หลีกเลี่ยงของเล่นที่อาจส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรง เช่น ปืนหรือมีด ถ้าเป็นเกมส์คอมพิวเตอร์ ควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน

 

อันตรายที่พบได้จากของเล่น

  1. ของเล่นที่เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ (เล็กกว่า 1 ½ นิ้ว) อาจทำให้อุดตันทางเดินหายใจได้ เช่น ลูกโป่ง เม็ดพลาสติก กระดุม หมุดต่างๆ ถ่านกระดุม แม่เหล็กชิ้นเล็กๆ เป็นต้น
  2. ของเล่นที่ทำให้มีการเคลื่อนที่ได้เร็ว เช่น รองเท้าสเก็ต สกู๊ตเตอร์
  3. ของเล่นปีนป่าย ที่อาจทำให้พลัดตกจากที่สูง หรือ เสี่ยงต่อการเกิดอุปกรณ์การเล่นล้มทับ
  4. ของเล่นที่มีความแหลมคม
  5. ของเล่นที่มีความรุนแรง เช่น ปืนอัดลม พลุ ดอกไม้ไฟ
  6. ของเล่นที่ส่งผลเสียในระยะยาว เช่น ของเล่นที่มีการปนเปื้อนของสารโลหะหนัก เช่น สารปรอท สารตะกั่ว หรือของเล่นที่มีเสียงดังอาจส่งผลต่อประสาทการได้ยิน
  7. ของเล่นที่มีส่วนของด้ายหรือเชือก หรือสายที่ยาวกว่า 20 เซนติเมตร ซึ่งอาจพันรอบคอ แล้วรัดจนเด็กหายใจไม่ออกได้

 

การดูแลรักษาของเล่น

นอกจากประโยชน์ของของเล่นที่มีมากมายแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ การดูแลรักษาของเล่น เพื่อไม่ให้เหตุของความเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุต่างๆได้

  • การจัดเก็บ หลังการเล่นทุกครั้งควรเก็บของเล่นให้เข้าที่ ไม่วางกระจัดกระจาย เพราะนอกจากความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อเด็กหรือผู้เลี้ยงดูได้ด้วย เช่น สะดุดหรือลื่นล้มจากของเล่นที่วางอยู่ตามพื้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งแบบเล็กน้อยและแบบที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
  • การทำความสะอาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยเฉพาะ ของเล่นที่มีการใช้ร่วมกับเด็กอื่นๆ ควรมีการทำความสะอาดด้วยการล้าง หรือ เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างเหมาะสม เพราะเชื้อโรคอาจจะแฝงตัวติดอยู่ตามของเล่น ตามซอกเล็กๆต่างๆได้

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE