โรคไข้เลือดออก

20 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย นพ. เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ Dengue virus โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเชื้อไข้เลือดออกจะมีระยะฟักตัวอยู่ในยุงประมาณ 5-8 วัน เมื่อยุงไปกัดคนก็จะถ่ายทอดเชื้อโรคนี้ให้กับผู้ที่ถูกกัดทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้เลือดออก

 

โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร

 

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ Dengue virus โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเชื้อไข้เลือดออกจะมีระยะฟักตัวอยู่ในยุงประมาณ 5-8 วัน เมื่อยุงไปกัดคนก็จะถ่ายทอดเชื้อโรคนี้ให้กับผู้ที่ถูกกัดทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้เลือดออก

 

ส่วนใหญ่โรคไข้เลือดออกมักพบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-14 ปี มักพบการระบาดในฤดูฝนช่วง เดือน พฤษภาคม ถึง กันยายน

ระยะที่ 1 : ระยะไข้สูง

  • ไข้สูงตลอดเวลา (30-40 องศาเซลเซียส)
  • หน้าแดง ตาแดง ไอ เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ กระหายน้ำ
  • ซึม เบื่ออาหาร และ อาจมีอาการปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือ ชายโครง

ระยะที่ 1 ใช้เวลา 4-7 วัน ถ้าอาการไม่รุนแรง ไข้ก็จะค่อยๆ ลดลงและเด็กจะแจ่มใสขึ้น

 

ระยะที่ 2 : ระยะช็อคและมีเลือดออก

จะเกิดขึ้นในช่วงไข้ลด ประมาณ วันที่ 3-7 ของโรค

  • พบอาการปวดท้องมากขึ้น กดเจ็บเล็กน้อยตรงใต้ชายโครงขวา
  • ตัวเย็น ซึม เหงื่อออกตามตัว
  • ปัสสาวะน้อย
  • มีอาการกระวนกระวาย และอาจมีจุดแดงๆ เหมือนมีเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือสีกาแฟ อุจจาระมีสีดำ ในรายที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อคและอาจถึงแก่ชีวิตได้

ระยะนี้ใช้เวลา 24-72 ชั่วโมง ถ้าแพทย์สามารถแก้ไขได้ทันผู้ป่วยจะดีขึ้น และเข้าสู่ระยะที่ 3

 

ระยะที่ 3 : ระยะฟื้นตัว

อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น เด็กจะเริ่มอยากอาหารร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็วจนเข้าสู่สภาวะปกติ บางรายมีผื่นแดงขึ้นตามแขนขา ตลอดระยะเวลาของโรคมักไม่เกิน 9 วัน ถ้าอาการไม่รุนแรงประมาณ 3-4 วัน อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นได้เอง

 

ดูแลอย่างไร เมื่อเป็นไข้เลือดออก

  • ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและตรวจรักษา
  • หากมีไข้ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้หากเป็นไข้เลือดออก ห้ามใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพริน เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน ทำให้เลือดออกได้ง่าย ควรใช้ยาประเภทพาราเซตามอล ห่างกันอย่างน้อย ทุก 4 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยควรได้รับน้ำทดแทน เพราะการที่มีไข้สูงเบื่ออาหารและอาเจียนทำให้ร่างกายขาดน้ำ แนะนำให้ดื่มน้ำครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ
  • หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อค หรือ มีเลือดออก ปวดท้องบริเวณยอดอก หรือ ลิ้นปี่ กระสับกระส่าย ซึมมาก อาเจียนมากขึ้น รับประทานไม่ได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยชีวิตและป้องกันภาวะแทรกซ้อน
  • เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขี้น จะเริ่มมีความอยากอาหารควรให้เป็นอาหารอ่อน ประเภทข้าวต้ม หรือ โจ๊กงดอาหารที่มีสีดำ หรือ แดง เพราะถ้าอาเจียนจะแยกไม่ได้ว่าเป็นเลือดหรือไม่

ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงที่สุดในวันที่ไข้เริ่มลดลง ต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆ

 

จะป้องกันไข้เลือดออกได้อย่างไร

  • ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกแห่งในบ้านและรอบบริเวณบ้าน เพราะยุงลายจะวางไข่ในน้ำนิ่ง เช่น น้ำขัง ในที่ต่างๆ ดังนั้น จึงควรปิดฝาภาชนะเก็บน้ำและทำลายภาชนะต่างๆ ที่เป็นแหล่งน้ำขัง หรือ การใช้ทรายอะเบท หรือ เกลือใส่ในน้ำ เพื่อทำลายลูกน้ำยุงลาย
  • ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะในเวลากลางวัน เนื่องจากยุงลายมักชอบออกหากินในเวลากลางวัน ดังนั้น ควรให้เด็กนอนในมุ้ง หรือ ให้เล่นในบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคติดเชื้อในเด็ก ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE