โรคอ้วนในเด็ก

>2 มี.ค. 2563 | เขียนโดย พญ.รชฎา กสิภาร์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก

ภาวะอ้วน

คือ เป็น “โรค” โรคหนึ่ง เพราะเป็นภาวะที่หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการดูแลแก้ไขตั้งแต่แรกเริ่ม จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นโรคทั้งทางร่างกายและจิตใจ ปัจจุบันอุบัติการณ์ภาวะอ้วนในเด็กไทย มีอัตราเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวและควรได้รับการป้องกันแก้ไขตั้งแต่เบื้องต้น

การเจริญเติบโตในเด็กขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมน ภาวะโภชนาการ โรคทางกายและสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู

 

 

การเจริญเติบโตปกติของเด็ก

น้ำหนักตัวจะเป็น 2 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด  ®  เมื่ออายุ 4-5 เดือน

น้ำหนักตัวจะเป็น 3 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด  ®  เมื่ออายุ 1 ปี

น้ำหนักตัวจะเป็น 4 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด  ®  เมื่ออายุ 2 ปี

เด็กวัยก่อนเรียน (อายุ 2-5 ปี) ®  น้ำหนักขึ้น ปีละ 2 – 2.5 กิโลกรัม

เด็กวัยเรียน (อายุ 6  ปี ขึ้นไป จนก่อนวัยรุ่น) ®  น้ำหนักขึ้น ปีละ 3 – 3.5 กิโลกรัม

 

 

อย่างไรเรียกว่าอ้วน

  1. ดูด้วยตาจะเห็นชัดเจนเมื่อมีภาวะอ้วนค่อนข้างมาก แต่ถ้าอ้วนไม่มากต้องใช้วิธีอื่นช่วย
  2. ดูน้ำหนักตามเกณฑ์อายุ (Weight for Age) เป็นการดูน้ำหนักตัวเด็กเทียบกับเด็กที่อายุเท่ากัน เมื่อนำค่าน้ำหนักตามเกณฑ์อายุมาจุดที่กราฟการเจริญเติบโต (Growth Chart) จุดที่เหมาะสม คือ Percentile 50-75
  3. ดูน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง (Weight for Height) เป็นการดูน้ำหนักตัวที่เหมาะสมเทียบกับความสูงของเด็ก      แต่ละคน
  4. ดูดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) เป็นการคำนวณ โดยใช้   ในเด็กยังไม่นิยมใช้ เนื่องจากเด็กยังมีการเปลี่ยนแปลงของส่วนสูงและน้ำหนักต่อปีทุกปี
  5. การวัดไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งต้องมีเครื่องมือและผู้วัดต้องมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือ จึงยังมีข้อจำกัด ในการใช้อยู่

 

 

ทำไมจึงอ้วน

ส่วนใหญ่ของเด็กอ้วนมักเป็นการอ้วนชนิดที่ไม่มีสาเหตุ เรียกว่า “Simple Obesity” คือ อ้วนจากการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือรับประทานชนิดของอาหารที่ไม่เหมาะสม ร่วมกับมีการออกกำลังน้อยและขาดกิจกรรมที่ทำให้เกิดต้องใช้พลังงาน

 

 

อ้วนจากสาเหตุอื่นที่เป็นโรค

พบได้น้อยแต่ไม่ควรละเลย ซึ่งถ้าผู้เลี้ยงดูสงสัยว่าเด็กน่าจะมีโรคที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนควรได้รับการพบกุมารแพทย์  เพื่อหาสาเหตุของภาวะอ้วน เช่น

  • ความผิดปกติทางต่อมไร้ท่อ
  • ความผิดปกติของสมองและระบบประสาท
  • กลุ่มอาการเฉพาะต่างๆ
  • สาเหตุจากยาบางตัว เช่น สเตียรอยด์ ยาทางจิตเวชบางชนิด

 

อ้วนกับภาวะแทรกซ้อน

โรคอ้วนทำให้มีภาวะแทรกซ้อนกับร่างกายได้หลายระบบ

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด :  ความดันเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้(ปัจจุบันพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ)
  • ระบบหายใจ :  เด็กอ้วนมักเหนื่อยง่ายเพราะมีไขมันสะสมในช่องอก ช่องท้องมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับได้
  • ระบบกระดูกและข้อ :  ปวดเข่า ขาโก่ง เดินไม่สวย (เข่าชิดและเสียดสีกันเวลาเดิน)
  • ระบบต่อมไร้ท่อ :  เกิดเบาหวานชนิดที่ 2  มีประจำเดือนเร็ว
  • ระบบทางเดินอาหารและตับ :  มีภาวะไขมันพอกตับ ภาวะกรดไหลย้อน
  • ระบบผิวหนัง :  มีเหงื่อออกมาก ทำให้เกิดความอับชื้นและผื่นบริเวณผิวหนังในรายที่อ้วนมากมักพบผิวหนังที่ต้นคอ รักแร้ เป็นสีคล้ำ ซึ่งมักพบร่วมกับภาวะดื้อต่ออินซูลีน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะเบาหวานมากขึ้น
  • โรคมะเร็งบางอย่าง :  เด็กอ้วนที่โตเป็นผู้ใหญ่อ้วนจะพบโรคมะเร็งบางอย่างสูงกว่าปกติ เช่นมะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อน
  • ภาวะแทรกซ้อนทางจิตใจ : เด็กอ้วนมักเฉื่อยชา ถูกล้อเลียน พบภาวะเครียด ซึมเศร้า ขาดความมั่นใจไม่กล้าแสดงออก

 

 

อ้วนแล้วควรทำอย่างไร

การรักษาภาวะอ้วนเป็นเรื่องยาก เพราะต้องรักษาระยะยาว และต้องการความตั้งใจที่แน่วแน่ อดทน เด็กหลายคนอ้วนจากผู้ใหญ่ทำจึงต้องได้รับความร่วมมือสนับสนุนอย่างดีจากผู้เลี้ยงดูและครอบครัวด้วย

 

 

โภชนาการ

  • เด็กวัยก่อนเรียน
    – ควรดูแลภาวะโภชนาการให้เหมาะสม เช่น เลิกนมมื้อกลางคืน ไม่กินขนมจุบจิบไม่กินน้ำอัดลม
  • เด็กวัยเรียน
    – ห้ามอดอาหาร เพราะอันตรายต่อร่างกายและยิ่งทำให้เด็กหิวมากจนกินอาหารมากขึ้นในมื้อถัดไป
    – รู้จักการควบคุมปริมาณอาหาร ลดแคลอรี่ในอาหารแต่ละมื้อลง ดื่มน้ำเปล่าแทน  น้ำหวาน / น้ำอัดลม  กินผลไม้แทนขนม

 

 

การออกกำลังกาย

  • ผู้เลี้ยงดูและครอบครัวควรหากิจกรรมที่ให้เด็กได้เผาผลาญพลังงาน เช่น ช่วยงานบ้าน เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์ ใช้การเดินแทนการนั่งรถ และมีเวลาพาเด็กไปออกกำลังกาย เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ กระโดดเชือก เตะฟุตบอล

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • สอนให้เคี้ยวและกินช้าช้า
  • ลดกิจกรรมที่ทำให้เด็กไม่เคลื่อนไหว เช่น งดการดูโทรทัศน์ งดการเล่นแท๊บเล็ต

 

สรุปว่า  ภาวะอ้วนในเด็กถ้าไม่ได้รับการป้องกันและดูแลเหมาะสมแล้วจะเกิดปัญหาตามมาในระยะยาวได้ ดังนั้นครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การจัดการโภชนาการของเด็กอย่างเหมาะสม มีเวลาพาเด็กไปทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลัง เป็นต้นแบบของพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมและกำลังพอดี จึงจะทำให้ดูแลเด็กได้เหมาะสมและไม่นำพาเด็กไปสู่ภาวะอ้วน

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์พัฒนาการเด็กและพฤติกรรม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE