สรุปทุกประเด็นของอาการทารกสะอึก เกิดจากอะไร มีวิธีแก้ไหม คุณพ่อคุณแม่มือใหม่สามารถศึกษาข้อมูลที่จำเป็นในการดูแลลูกน้อยได้ในบทความนี้
สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ สุขภาพร่างกายและความปลอดภัยของลูกน้อยย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เพิ่งมีลูกคนแรก ย่อมมักจะกังวลกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็กเป็นพิเศษ แม้จะเป็นความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม และอาการหนึ่งที่มักพบได้บ่อยในเด็กทารก ก็คืออาการทารกสะอึก แล้วอาการนี้อันตรายหรือไม่ ใครที่ลูกน้อยมีอาการนี้อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะเรามีข้อมูลดี ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ รวมถึงวิธีการรับมือเมื่อลูกรักสะอึกมาแนะนำกัน
รู้จักอาการทารกสะอึก พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
อาการสะอึก (Hiccups) เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี เป็นอาการที่กระเพาะอาหารขยายตัวจากนมที่ดื่มเข้าไป ส่งผลให้เกิดแรงดันไปยังกล้ามเนื้อกะบังลม เวลาที่ทารกหายใจออก กล้ามเนื้อกะบังลมจึงหดตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเสียงสะอึก อาการนี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ และจะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อทารกอายุได้ 4-5 เดือน ถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ถึงแม้ว่าจะเป็นอาการที่พบได้บ่อย และส่วนใหญ่ไม่อาการที่เป็นอันตรายร้ายแรง ไม่ทำให้ลูกรู้สึกเจ็บปวด แต่เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด จะเป็นการดีที่สุด
สำหรับอาการที่ควรจับตาดูเป็นพิเศษเมื่อลูกมีอาการสะอึก ได้แก่ ลูกสะอึกต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ร่วมกับมีอาการแหวะนม เซื่องซึม มีไข้ งอแงผิดปกติ หากพบอาการเหล่านี้ แนะนำว่าควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะอาการสะอึกที่ผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของโรคในช่องปอด ความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง หรือความผิดปกติบริเวณลำคอและหน้าอกได้
อาการทารกสะอึก เกิดจากสาเหตุใดบ้าง?
ปัจจัยที่ทำให้ทารกเกิดอาการสะอึกมีอยู่หลายประการ ซึ่งสาเหตุของอาการสะอึกที่พบบ่อย มีดังนี้
- ทารกมีอาการท้องอืด เพราะระบบย่อยอาหารยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
- ทารกดื่มนมปริมาณมากเกินไปหรือเร็วเกินไปในคราวเดียว
- ทารกกลืนอากาศเข้าไปมากเกินไป
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด
ทารกสะอึก พ่อแม่มีวิธีแก้เองได้ ง่ายกว่าที่คิด
สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีลูกน้อยวัยทารก ต้องเผชิญกับอาการสะอึกเป็นประจำ บอกเลยว่าสามารถรับมือเองได้ง่าย ๆ ด้วย 4 วิธีนี้
ปรับเปลี่ยนท่าทางให้ลูกน้อย
หากกำลังป้อนนมอยู่แล้วลูกเกิดอาการสะอึก อาจเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยอยู่ในท่านอนราบมากเกินไป ทำให้มีอากาศเข้าไปในท้อง ควรหยุดป้อนแล้วจับให้ลูกนั่งตัวตรง ใช้หมอนช่วยหนุนหลัง จะช่วยให้อาการสะอึกหายไปได้
กระตุ้นให้ทารกเรอ
วิธีถัดมา คือการอุ้มทารกพาดบ่าหรืออุ้มนั่ง เพื่อกระตุ้นให้ทารกเรอออกมา เพราะการเรอ เป็นการเอาอากาศส่วนเกินที่อยู่ในท้องหรืออยู่ในหลอดอาหารออกมา จึงช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้
ลูบแผ่นหลังทารกขึ้นเบา ๆ
หากเจอกับอาการทารกสะอึก อีกหนึ่งวิธีแก้ที่ช่วยได้ คือการลูบแผ่นหลังของลูกน้อยขึ้นเบา ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่จับลูกนั่งตัวตรงบนตัก ให้เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งประคองคางเอาไว้ จากนั้นลูบหลังจากส่วนเอวขึ้นมาถึงต้นคอช้า ๆ ก็จะช่วยไล่ลมและแก้อาการสะอึกได้เช่นกัน
ให้ลูกดูดจุกนมหลอก
สุดท้าย เป็นการใช้ตัวช่วยอย่างจุกนมหลอกให้เป็นประโยชน์ เพราะการดูดจุกนมหลอกจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณกะบังลมเกิดความเคลื่อนไหวและผ่อนคลาย อาการสะอึกจึงค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้ในเวลาไม่นาน
การป้องกันอาการทารกสะอึกที่คุณพ่อคุณแม่ทำเองได้
แม้ว่าอาการสะอึกในทารกจะเป็นอาการที่เกิดได้ทั่วไปและไม่เป็นอันตราย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถป้องกันอาการนี้ได้โดยการใช้วิธีเหล่านี้
- ป้อนนมทีละน้อย แต่ป้อนเป็นระยะ ๆ
- หลังมื้อนม ให้อุ้มทารกพาดบ่า หรือจับนั่งให้ทารกเรอออกมาทุกครั้ง
- ไม่ป้อนนมตอนทารกหิวจัดจนร้องไห้โวยวาย เพราะอาจทำให้สำลักและมีอากาศเข้าไปในท้องปริมาณมาก
- ไม่ทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากหลังดื่มนมเสร็จ
- เลือกจุกนมที่มีขนาดพอดี เพราะจุกนมที่มีขนาดเล็กเกินไป อาจทำให้ทารกกลืนอากาศเข้าไปจนทำให้มีอาการสะอึกได้
หากพบว่าลูกน้อยมีอาการป่วยหรือมีความผิดปกติใด ๆ สามารถเข้ามารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษากับทีมกุมารแพทย์ชำนาญการเฉพาะทางด้านทารกแรกเกิด และด้านโรคต่าง ๆ ในเด็ก ได้ที่โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์ รามอินทรา นัดหมายเข้ารับบริการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน Call Center ได้ที่เบอร์ 02-793-5000