โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth disease)

15 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย นพ. เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth disease) เป็นกลุ่มอาการไข้ออกผื่นจากเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยในเด็ก ในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี พบผู้ป่วยโรคนี้ได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว การระบาดเกิดขึ้นบ่อยในสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5  ปี

 

สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร (enterovirus) ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์สำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ ไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16(Coxackievirus A 16) และไวรัสเอนเทอโร ชนิด 71 (Enterovirus 71 – EV71) โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากตุ่มน้ำที่มือและเท้าน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ หรือของเล่นหรือภาชนะที่ใช้ร่วมกัน

 

อาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ได้แก่ ไข้สูง ไม่รับประทานอาหารและนม มีแผลในปากและมีผื่นลักษณะตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ส่วนใหญ่เริ่มจากมีไข้สูง 1-2 วัน จากนั้นจะมีอาการเจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่รับประทานอาหารหรือรับประทานอาหารได้น้อยลงในเด็กเล็กมักงอแงกว่าปกติและสังเกตว่ามีน้ำลายไหลตลอดเวลา ระยะนี้ในปากอาจพบแผลคล้ายร้อนในบริเวณคอหอย ลิ้นไก่ เยื่อบุในช่องปากและลิ้น ซึ่งจะเจ็บมากขณะเดียวกันจะเริ่มมีผื่นลักษณะเป็นจุดแดงต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสล้อมรอบด้วยพื้นแดงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า บางรายอาจพบผื่นตามแขน ขาและก้นร่วมด้วย

 

หากพบเฉพาะแผลในปากโดยไม่พบผื่นตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือฝ่าเท้า เราเรียกว่าโรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร (Enterovirus) เช่นเดียวกัน อาการไข้มักมีประมาณ 3-4 วัน แผลในปากพบได้ถึง 1 สัปดาห์ ส่วนอาการผื่นตุ่มน้ำที่มือและเท้าพบได้นาน 7-10 วัน

 

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก มักมีอาการไม่รุนแรง อาการดังกล่าวหายได้เองทั้งหมดหลังจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสได้ ซึ่งอาจมีระยะเวลาแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย พบส่วนน้อยที่จะมีอาการรุนแรงโดยมักสัมพันธ์กับการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสเอนเทอโร ชนิด 71 (Enterovirus 71 – EV71)

 

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการแทรกซ้อนที่สำคัญของระบบประสาท ได้แก่ แขนขากระตุก ซึมลงจนเข้าสู่ภาวะโคม่าจากก้านสมองอักเสบ และมีการเต้นของหัวใจผิดปกติ ร่วมกับมีอาการหอบเหนื่อยจากภาวะน้ำท่วมปอดนำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

การวินิจฉัยโรคนี้ทำได้ง่ายโดยใช้อาการแสดงของผู้ป่วยเป็นหลัก ปัจจุบันสามารถส่งตรวจหาชนิดไวรัสก่อโรคได้จากสารคัดหลั่งจากจมูกและคอหอยหรือจากตุ่มน้ำที่ผิวหนังโดยตรงด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) ซึ่งทราบผลภายในใน 48-72 ชั่วโมง แนะนำให้ตรวจในรายที่มีอาการรุนแรงเพื่อยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัสเอนเทอโร ชนิด 71 หรือไม่ นอกจากนั้นอาจส่งตรวจเลือดหาภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเอนเทอโร ชนิด 71 (EV-71 IgM) เป็นการคัดกรองเบื้องต้นในรายที่สงสัยอาการรุนแรงซึ่งการตรวจวิธีนี้สามารถทราบผลใน 1 ชั่วโมงแต่ความแม่นยำด้อยกว่าการตรวจ PCR

 

การรักษาผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสที่สามารถใช้กำจัดเชื้อชนิดนี้ได้ จึงมุ่งเน้นรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้บรรเทาอาการไข้ การให้ยาชาเพื่อลดอาการเจ็บในช่องปาก แนะนำอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก ดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ

 

ในรายที่แผลในปากเป็นมากรับประทานไม่ได้เลยอาจแนะนำให้รับประทานของเย็นๆ เช่น ไอศครีม โยเกิร์ต และหากพบว่าไม่สามารถรับประทานอะไรได้เลยร่วมกับเริ่มมีภาวะขาดน้ำควรเข้ารับรักษาแบบผู้ป่วยในเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำทดแทน

 

ในรายที่มีอาการรุนแรง สงสัยว่าจะมีอาการของก้านสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเอนเทอโร ชนิด 71 ผู้ป่วยจะซึมมากและอาจมีอาการชักเก็งกระตุก ควรเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) เพื่อเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและพิจารณาให้สารเพิ่มภูมิคุ้มกันทางหลอดเลือดที่เรียกว่า IVIG เพื่อหวังลดการลุกลามและอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลงได้บ้าง แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ยังต้องการหลักฐานการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในการรักษาภาวะนี้

 

โดยสรุปโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เองแต่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นถ้าผู้ป่วยไข้สูงเกิน 3 วัน มีภาวะขาดน้ำมาก เช่น รับประทานอาหารและน้ำไม่ได้เลย ปัสสาวะน้อยลง ปากแห้ง ตาโหล ซึมลง หรือมีอาการชักเกร็งกระตุกควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคติดเชื้อในเด็ก ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE