เมื่อเจ้าตัวเล็กท้องผูก จะทำอย่างไรดี

>15 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พญ.สุชีรา หงษ์สกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร

ภาวะท้องผูก คือ ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับมีอุจจาระแข็งและมีขนาดใหญ่และหรือมีความยากลำบากในการขับถ่าย ภาวะท้องผูกเป็นปัญหาที่มีผลต่อเด็ก ทำให้กินได้น้อย อิ่มเร็ว ปวดท้องบ่อย น้ำหนักไม่ขึ้น บางครั้งเด็กมีอารามณ์หงุดหงิดง่าย พอเด็กถ่ายไม่ออก ก็จะร้องไห้ ปวดท้อง เดือดร้อนถึงคุณพ่อ คุณแม่ รวมทั้งผู้ที่ดูแลเด็ก ทำให้เกิดความวิตกกังวลได้มากขึ้น ในเด็กที่โตแล้ว บางครั้งท้องผูก กลั้นอุจจาระไว้นาน จนเกิดภาวะอุจจาระเล็ด ทำให้ถ่ายเปื้อนกางเกงที่โรงเรียน มีกลิ่นเหม็น โดนพื่อนล้อเลียน หรือโดนทำโทษ จนส่งผลต่อภาวะจิตใจเด็ก ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่อยากไปโรงเรียนได้

 

ในเด็กเล็ก มักเป็นในช่วงที่เริ่มอาหารตามวัย หรือเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมผสม มักเบ่งนาน 10-20นาที อาจมีร้องไห้ หน้าแดง แต่อุจจาระที่ถ่ายออกมามักมีลักษณะปกติ อาการส่วนใหญ่มักดีขึ้นหลังอายุ 9 เดือน

 

ในเด็กวัยเตาะแตะและเด็กโต มักเกิดจากภาวะกลั้นอุจจาระ เนื่องจากไม่มีเวลาหรือสถานที่ถ่ายไม่เหมาะสม ร่วมกับกินผัก ผลไม้ และกินน้ำน้อย ทำให้อุจจาระแข็งก้อนใหญ่ บางครั้งถ่ายแล้วทำให้รูก้นปริ ถ่ายมีเลือดปน เจ็บก้น จึงกลัวการเบ่งถ่ายอุจจาระและกลั้นอุจจาระต่อไปอีกทำให้เกิดท้องผูกเรื้อรัง และต่อมาเกิดภาวะอุจจาระเล็ดหรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่

 

เมื่อไหร่ควรพามาพบแพทย์ 

ถ้าไม่ถ่ายอุจจาระหลายวัน ถ่ายไม่ออก ถ่ายมีเลือดปน ก้อนแข็งใหญ่ กดชักโครกไม่ลง ปวดท้องบ่อย อุจจาระเล็ดราดเลอะกางเกง ร้องไห้มากเวลาเบ่งถ่าย เด็กที่กลั้นอุจจาระมักมีอาการเกร็งขาหนีบและก้น ไปยืนบิดตามมุมห้อง ควรพามาพบแพทย์

 

การตรวจวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติ อาการที่เกิด ดูการเจริญเติบโต น้ำหนัก ส่วนสูง ลักษณะอุจจาระ ท่าทางการเบ่งถ่าย อาหารที่กิน นมที่ดื่ม การฝึกการขับถ่าย กิจวัตรประจำวันของเด็ก อาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น อาเจียน ปวดท้อง ปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ ตรวจร่างกายมักพบว่า ท้องอืดป่อง คลำก้อนได้ที่หน้าท้อง มีแผลปริที่รูก้น

 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์และทางรังสี

ส่วนใหญ่มักวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย อาจตรวจเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีช่องท้อง (X-ray abdomen) กรณีสงสัยลำไส้ตีบตัน อาจส่งตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนสารทึบรังสี (Barium enema)  ตรวจเลือดหาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และหาภาวะแพ้นมวัวถ้าสงสัย เป็นต้น

 

การรักษา

  1. แนะนำและอธิบาย ให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงภาวะท้องผูก เพื่อร่วมมือในการรักษา การฝึกการขับถ่ายให้เด็ก การจัดเตรียมอาหารที่มีผัก ผลไม้มากขึ้น การกินยาอย่างเหมาะสม และมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  2. การรักษาด้วยยา โดยอาจมีทั้งการสวนอุจจาระในช่วงแรกเพื่อเอาอุจจาระที่คั่งคางออกและทานยาระบายต่อเนื่อง โดยอาจใช้เวลาเป็นเดือน และค่อยๆลดปริมาณยาลงแล้วจึงหยุดยา
  3. การฝึกการขับถ่าย โดยนั่งกระโถนหรือชักโครกที่เหมาะกับตัวเด็ก 2 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 5-10นาที
  4. กินอาหารผัก ผลไม้และน้ำให้มากขึ้น

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE