พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า (Delayed Language)

15 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พญ.รชฎา กสิภาร์ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก

ในเวชปฏิบัติของคลินิกพัฒนาการเด็ก ปัญหาพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองกังวล และนำบุตรหลานมาพบแพทย์มากที่สุด เนื่องจากพัฒนาการทางภาษาเป็นทักษะที่จำเป็นในการสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นพื้นฐานการเรียนรู้และพัฒนาไปสู่สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาและการดำรงชีวิต

 

พัฒนาการทางภาษา แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ

  • ความสามารถในการเข้าใจภาษา เช่น การทำตามคำสั่ง การรู้จักชื่อตนเอง การชี้รูปภาพตามคำบอก
  • ความสามรถในการแสดงออกทางภาษา เช่น การพูด การเลือกใช้ภาษาได้เหมาะสมกับสถานการณ์

 

เมื่อใดเรียกว่ามีพัฒนาการภาษาล่าช้า

ถ้าผู้เลี้ยงดูพบลักษณะดังต่อไปนี้ ควรสงสัยว่าเด็กมีพัฒนาการภาษาล่าช้า

  • อายุ 15 เดือน : ยังไม่เข้าใจหรือทำตามคำสั่งง่ายๆได้ ยังไม่หันเวลาเรียกชื่อ
  • อายุ 18 เดือน : ยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย
  • อายุ 2 ปี : ยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย หรือพูดคำพยางค์เดียวที่มีความหมายได้น้อยกว่า 20 คำ
  • อายุ 3 ปี : ยังพูดไม่เป็นประโยค หรือคนส่วนใหญ่ฟังภาษาที่เด็กพูดแล้วไม่เข้าใจ

 

สาเหตุของพัฒนาการทางภาษาล่าช้า

  1. สาเหตุจากอวัยวะรับการได้ยินผิดปกติ เช่น หูตึง หูหนวก ปัจจุบันในโรงพยาบาลหลายๆที่ได้มีการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรก ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยภาวะได้ยินผิดปกติแต่กำเนิดได้

 

แต่เด็กจำนวนหนึ่งมีปัจจัยอื่นที่ทำให้มีความผิดปกติของการได้ยินเกิดขึ้นภายหลังได้ เช่น มีการติดเชื้อของระบบประสาท การได้ยาปฏิชีวนะบางอย่าง เด็กกลุ่มนี้มักมีท่าที่ที่อยากสื่อสาร เช่น ชอบจ้องมองปากผู้เลี้ยงดู ใช้ภาษาท่าทางเยอะ

 

  1. สาเหตุจากสติปัญญาบกพร่อง เด็กกลุ่มนี้นอกจากจะมีภาษาล่าช้าแล้ว จะมีปัญหาพัฒนาการด้านอื่นล่าช้าด้วย
  2. กลุ่มอาการออทิซึม เด็กกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการภาษาล่าช้าร่วมกับความบกพร่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากเด็กปกติ เช่น ไม่ตอบสนองต่อการเรียก ไม่สนใจที่จะเล่นกับผู้เลี้ยงดู ไม่มีอารมณ์ร่วมกับผู้เลี้ยงดู
  3. พัฒนาการทางภาษาล่าช้าด้านเดียว เด็กกลุ่มนี้จะมีเฉพาะพัฒนาการภาษาล่าช้าอย่างเดียว เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน พัฒนาการด้านอื่นจะสมวัย เด็กกลุ่มนี้จะเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันได้ สามารถมีความสนใจและมีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่นได้ กลุ่มนี้จะมีพยากรณ์โรคที่ดีที่สุด

 

แต่อย่างไรก็ตามในเด็กกลุ่มนี้จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่มีแนวโน้มที่เมื่อโตขึ้นมาจะมีความบกพร่องในการเรียน โดยเฉพาะด้านการอ่านและสะกดคำ

 

  1. สาเหตุที่เกิดจากการเลี้ยงดู การที่เด็กคนหนึ่งจะพูด หรือสื่อสารภาษา ท่าทางได้ ต้องอาศัยการเลียนแบบและเรียนรู้จากผู้เลี้ยงดู ผู้เลี้ยงดูควรจะมีการสื่อสารกับเด็กทั้งภาษาท่าทาง ภาษาพูด โดยฝึกให้ลูกพูดผ่านการพูดคุยกับพ่อแม่และมีสื่อที่เหมาะสม เช่น อ่านนิทาน ดูบัตรภาพ

 

เด็กยุคปัจจุบันหลายคนอาจอยู่กับสื่อที่เป็นการสื่อสารทางเดียวมากขึ้น เช่น แท๊บเล็ต โทรศัพท์ โทรทัศน์ สื่อเหล่านี้จะทำให้เด็กติด แต่ขาดปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสม หลายครั้งที่เราพบว่าเด็กจะมีพฤติกรรมคล้ายภาวะออทิซึมได้ เช่น เรียกไม่หัน (เพราะจดจ่ออยู่กับหน้าจอ) พูดเลียนแบบแท๊บเล็ตแต่ไม่สื่อสารกับผู้เลี้ยงดู เด็กกลุ่มนี้จึงมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าวัยได้

 

ภาวะพัฒนาการภาษาล่าช้าจำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่?

เมื่อผู้เลี้ยงดูสังเกตว่าเด็กมีพัฒนาการทางภาษาไม่สมวัย จำเป็นอย่างมากที่ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและได้รับคำแนะนำในการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อการพยากรณ์โรคที่ดี

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์พัฒนาการเด็กและพฤติกรรม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE