ดวงตาลูกน้อย

15 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย พญ. ชุติมา สมบูรณ์ศรี แพทย์เชี่ยวชาญด้านจักษุและต้อหิน

สุขภาพตาและพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็ก เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลย เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกความผิดปกติของตนเองได้ การเฝ้าสังเกตภาวะผิดปกติทางตาและการตรวจคัดกรองสุขภาพตาในเด็ก จึงมีส่วนสำคัญเพื่อจะได้ดูแลรักษาได้ทันท่วงที

 

ภาวะผิดปกติทางตาที่พบได้ในเด็ก เช่น ตาเขหรือตาเหล่ สายตาผิดปกติ ตาขี้เกียจ หนังตาตก น้ำตาเอ่อ หรือภาวะผิดปกติอื่นๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน เนื้องอกหรือมะเร็งจอประสาทตา เป็นต้น

  • ตาเข หรือตาเหล่ :   เป็นภาวะไม่สมดุลของกล้ามเนื้อตา 2 ข้าง พบได้ทั้งตาเขเข้าใน ตาเขออกนอก หรือตาเขในทิศทางอื่น และมีทั้งประเภทตาเขตลอดเวลาและตาเขซ่อนเร้น

 

วิธีสังเกตทั่วไป ดูที่ตาของเด็กทั้ง 2 ข้าง ช่วงที่เด็กมองตรงตาดำทั้งสองควรอยู่ตรงกลางของตาแต่ละข้าง และเมื่อเด็กมองไปทิศทางอื่น ตาดำทั้งสองควรไปในทิศทางนั้นโดยสัมพันธ์กัน ถ้าสงสัยหรือพบภาวะผิดปกติควรพาไปพบจักษุแพทย์ตรวจตาทันที เพราะการปล่อยให้เด็กมีภาวะตาเขอาจส่งผลให้เด็กใช้ตาข้างเดียวในการมอง ตาอีกข้างอาจเกิดภาวะตาขี้เกียจได้

  • สายตาผิดปกติ ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ส่งผลให้มองเห็นไม่ชัด อาจมีอาการแสดงบางอย่าง เช่น เพ่ง หยีตา ยื่นศีรษะ ขมวดคิ้ว โน้มตัว หรือเอียงศีรษะเวลามอง หากพบภาวะผิดสังเกต แนะนำให้พบจักษุแพทย์ตรวจตาและตรวจวัดค่าสายตาทันที เนื่องจากการให้เด็กมองภาพไม่ชัด ไม่ว่าจะ 1 ข้างหรือ 2 ข้าง จะมีผลต่อพัฒนาการด้านการมองเห็นเกิดภาวะตาขี้เกียจได้

 

ส่วนในเด็กที่ไม่มีอาการแสดง แนะนำให้ตรวจคัดกรองระดับการมองเห็น (Visual acuity) ในช่วงวัยก่อนเข้าเรียน เช่น อายุ 3 ปี ในเด็กบางรายที่จำเป็นต้องวัดค่าสายตาจะมีการหยอดยาในขั้นตอนการตรวจวัดเป็นการลดภาวะเพ่ง เพื่อให้ได้ค่าสายตาที่แท้จริง

  • ตาขี้เกียจ หมายถึง การมองเห็นภาพไม่ชัดจากสาเหตุต่างๆ ตั้งแต่ช่วงวัยที่มีพัฒนาการด้านการมองเห็น เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขให้เห็นภาพชัดในช่วงวัย 7-9 ปี ส่งผลให้เกิดการมองเห็นไม่ชัดแบบถาวร สามารถเป็นได้ทั้ง 1 หรือ 2 ตา สาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจ เช่น ตาเข สายตาสั้น สายตายาวหรือสายตาเอียงมาก หรือสายตาไม่เท่ากัน 2 ข้าง หนังตาตกบังการมองเห็น หรือโรคทางตาที่มีผลต่อการมองเห็น เช่น ต้อกระจก ต้อหิน โรคทางจอตา เป็นต้น ดังนั้นถ้าพบเด็กที่มีภาวะตาขี้เกียจหรือเสี่ยงต่อภาวะตาขี้เกียจ ควรได้รับการดูแลรักษา เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านการมองเห็น ให้พ้นจากภาวะตาขี้เกียจในช่วงวัยที่ยังสามารถแก้ไขได้
  • หนังตาตกแต่กำเนิด พบได้ทั้งตา 1 ข้างหรือ 2 ข้าง เด็กอาจมีพฤติกรรมเงยหน้าเวลามอง ถ้าหนังตาตกมาบังการมองเห็น ส่งผลให้ตาข้างนั้นเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ดังนั้นหากพบลักษณะหนังตาตก ควรพบจักษุแพทย์ตรวจตาทันที เพื่อรับการดูแลรักษาจะได้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา
  • น้ำตาเอ่อ ในเด็กบางรายช่วงวัยตั้งแต่ 1 เดือน อาจสังเกตเห็นว่ามีน้ำตาเอ่อ น้ำตาคลอ สามารถพบได้ทั้ง 2 ตาหรือตาข้างเดียว ในบางช่วงอาจมีน้ำตามากผิดปกติ สาเหตุที่พบได้ คือภาวะท่อน้ำตาอุดตันแต่กำเนิด ในช่วงวัยก่อน 1 ปี เป็นช่วงที่มีโอกาสที่เยื่อบางๆที่ขวางทางระบายน้ำตาจะเปิดออกได้สูง จึงควรพาเด็กพบจักษุแพทย์ตรวจตาทันทีที่มีอาการหรือสงสัยน้ำตาเอ่อ

 

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตดวงตาของลูกน้อย หากพบอาการผิดปกติหรือสงสัยควรพาลูกน้อยของท่านมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาทันทีหรือพาเด็กตรวจคัดกรองทางตาทั่วไป โดยที่ระดับอายุ 3-6 เดือน ควรตรวจคัดกรองภาวะผิดปกติทางตาระดับอายุ 3-6 ปี ควรตรวจคัดกรองระดับการมองเห็น (Visual acuity) และภาวะผิดปกติทางตา วัดค่าสายตาในบางรายระดับอายุ 6 ปีตรวจคัดกรองระดับการมองเห็นและวัดค่าสายตา เพื่อประโยชน์ต่อดวงตาของลูกน้อยและพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็กทุกคน

 

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกตา ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE