กินอย่างไร…ให้ลูกตัวสูง?

26 พ.ค. 2563 | เขียนโดย พญ. สิรินยา บุญธนาพิบูลย์ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม

อาหารมีส่วนสำคัญมากในการเจริญเติบโตของร่างกายซึ่งรวมถึงกระดูก สารอาหารที่สร้างเสริมกระดูกจึงมีความสำคัญต่อความสูง ส่วนประกอบสำคัญของกระดูกคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปรตีนในเนื้อกระดูก เด็กจึงควรได้รับสารเหล่านี้ให้เพียงพอต่อความต้องการตามอายุ

 

1.แคลเซียม (Calcium)

มีความสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และมีความสำคัญมากขึ้นในวัยรุ่นที่เริ่มมีช่วงโตเร็ว (growth spurt) อายุเฉลี่ยที่มีการสะสมแคลเซียมในอัตราสูงสุดคือ 14 ปีในเพศชายและ 12.5 ปีในเพศหญิง โดยแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปจะดูดซึมได้เพียงร้อยละ 30 ดังนั้นเด็กแต่ละวัยควรรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอกับความต้องการในแต่ละวัน ดังนี้

– เด็ก 6 เดือนแรก ควรได้รับแคลเซียม 400 มิลลิกรัม/วัน

– เด็กอายุ 6 เดือน -1 ปี ควรได้รับแคลเซียม 600 มิลลิกรัม/วัน

– เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับแคลเซียม 700 มิลลิกรัม/วัน

– เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1000 มิลลิกรัม/วัน

– เด็กอายุ 9-18 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1300 มิลลิกรัม/วัน

อาหารที่มีแคลเซียมปริมาณมากและดูดซึมได้ดีที่สุด คือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารอื่นๆที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กๆที่กินทั้งก้าง เต้าหู้ ผักที่มีแคลเซียมสูง เช่น ตำลึง ผักกระเฉด ขี้เหล็ก ดอกแค สะเดา

เด็กที่รับประทานแคลเซียมไม่เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินปริมาณแคลเซียมที่ได้รับในแต่ละวันและพิจารณาเรื่องการรับประทานแคลเซียมเสริม

 

 

2.วิตามินดี (Vitamin D)

ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร ออกฤทธิ์ที่กระดูกช่วยในการเจริญเติบโต และยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์อันเป็นสาเหตุให้เกิดการสลายกระดูก หากขาดวิตามินดีจะส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสในทางเดินอาหารลดลง มวลกระดูกลดลง เด็กที่ขาดวิตามินดีรุนแรงอาจทำให้เป็นโรคกระดูกอ่อน (Rickets) ซึ่งจะทำให้ตัวเตี้ยและขาโก่งได้

เราสามารถวินิจฉัยภาวะขาดวิตามินดีได้จากการวัดระดับค่า 25-hydroxy-vitamin D ในเลือด โดยค่าปกติมากกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร

 

การป้องกันการขาดวิตามินดี ทำได้โดย

  • พยายามทำกิจกรรมที่ได้รับแสงแดด แสงแดดจะช่วยเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกายไปเป็นวิตามินดี
  • รับประทานอาหารที่ให้ปริมาณวิตามินดีสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล น้ำมันตับปลา ไข่แดง นม
  • ส่วนการรับประทานวิตามินดีเสริมในกรณีที่มีภาวะขาดวิตามินดีควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ชนิดและปริมาณของวิตามินดีตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย และทำการตรวจติดตามระดับวิตามินดีในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

 

 

3.โปรตีน (Protein)

การกินอาหารที่มีโปรตีนและพลังงานเพียงพอมีความสำคัญต่อการขยายตัวของกระดูก เด็กที่เป็นโรคขาดอาหาร (protein energy malnutrition) จะมีความสูงและน้ำหนักน้อยกว่าปกติ กระดูกบางกว่าปกติ เด็กที่ขาดโปรตีน ระดับฮอร์โมน IGF-1 จะต่ำลง  ฮอร์โมน IGF-1 มีความสำคัญต่อการขยายตัวและแบ่งตัวของเซลล์กระดูกบริเวณส่วนปลายของกระดูกยาว ดังนั้นโปรตีนที่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต่อการเติบโตของกระดูก

 

 

4.สังกะสี (Zinc)

เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีผลต่อการสร้างและการเจริญเติบโตของกระดูก เด็กที่ขาดแร่ธาตุสังกะสี จะทำให้การเจริญเติบโตลดลง เบื่ออาหาร อาจมีผมร่วง หรือผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง แร่ธาตุสังกะสี พบมากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง ไข่แดง ตับ เนย หอยนางรม

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE