เอ็มอาร์ไอ (MRI) คืออะไร
เอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging : MRI) เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจหาความผิดปกติของส่วนต่างๆ ในร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ มาใช้ในการสร้างภาพตัดขวางและภาพในแนวระนาบต่างๆ ของคนไข้ ซึ่งทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเจ็บปวดใดๆ แก่ผู้ป่วยและไม่มีรังสีเอกซเรย์อีกด้วย
หลักการทำงานของเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI)
อาศัยการส่งคลื่นวิทยุไปยังผู้ป่วยที่นอนอยู่ในสนามแม่เหล็กความเข้มสูง เมื่อหยุดกระตุ้นด้วยคลื่นวิทยุนิวเคลียสของอะตอมจะกลับเข้าสู่ภาวะระดับพลังงานปกติก็จะปลดปล่อยคลื่นวิทยุออกมาเป็นสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเราสามารถบันทึกคลื่นวิทยุที่เนื้อเยื่อปล่ยออกมาแล้วนำมาประมวลผล และสร้างภาพอวัยวะต่างๆ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะได้ภาพที่มีรายละเอียดของเนื้อเยื่อสูง และสามารถแสดงภาพได้ทุกระนาบของผู้ป่วย
เอ็มอาร์ไอ (MRI) ใช้ตรวจอวัยวะใดได้บ้าง
การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ สามารถตรวจหาความผิดปกติได้แทบทุกอวัยวะ ได้แก่
- ความผิดปกติภายในกระโหลกศีรษะ เช่น สมอง ตา หูชั้นใน ต่อมใต้สมอง เป็นต้น
- ความผดิปกติของระบบกระดูกสันหลัง และไขสันหลัง โดยสามารถตรวจพบสาเหตุของการกดทับไขสันหลัง หรือ กดทับเส้นประสาทสันหลังได้อย่างแม่นยำ
- ความผิดปกติของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ กระดูกส่วนต่างๆ รวมทั้งการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น บริเวณข้อกระดูก เช่น ข้อเข่า, ข้อเท้า เป็นต้น
- ความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก, ต่อมลูกหมาก และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
- ความผิดปกติของอวัยวะบริเวณทรวงอก, ช่องท้อง และเต้านม เป็นต้น
ข้อดี ของการตรวจด้วย เครื่องเอ็มอาร์ไอ
- สามารถจำแนกคุณสมบัติของเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันได้ชัดเจน ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรดได้ถุกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
- ใช้ได้ดีกับส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อ เช่น เนื้อเยื่อสมอง, เส้นประสาทไขสันหลัง, กล้ามเนื้อ เอ็นยึดกระดูกและกล้ามเนื้อ, เส้นเลือด, ไขกระดูก และข้อต่อกระดูกต่างๆ เป็นต้น
- สามารถตรวจหาสิ่งผิดปกติในร่างกายได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ
- ตรวจได้ทุกระนาบโดยไม่ต้องขยับผู้ป่วย
- ไม่มีรังสัเอกซเรย์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ข้อพึงระวังก่อนเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอ
เนื่องจากห้องตรวจเอ็มอาร์ไอ จะมีสนามแม่เหล็กความเข้มสูงตลอดเวลา ซึ่งมีผลต่อการทำงานของเครื่องมือที่ไวต่อแม่เหล็ก และดึงดูดวัตถุที่เป็นโลหะทุกชนิดจึงมีข้อพึงระวังก่อนเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ ดังนี้
- ห้ามตรวจในผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง, ผู้ป่วยใส่ลิ้นหัวใจเทียม หรือข้อเทียม, ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ, ผู้ป่วยที่ใส่ Stent หลอดเลือดหัวใจหรือผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมภายในหู เป็นต้น
- ควรหลีกเลี่ยงการตรวจเอ็มอาร์ไอ ในผู้ป่วยที่กลัวที่แคบ (Claustrophobic) เพราะเครื่องเอ็มอาร์ไอมีลักษณะเป็นโพรงให้เตียงผู้ป่วยเคลื่อนเข้าไปได้
- ผู้ที่เข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอ จะต้องนำโลหะต่างๆ ออกจากตัว เช่น ที่หนีบผม , ฟันปลอม, ต่างหู, เครื่องประดับ, บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต กุญแจ หรือ นาฬิกา เป็นต้น
- ผู้ป่วยจ้องถอดเหล็กดัดฟัน, ไม่ใช้อายแชโดว์ และมาสคาร่า เพรามีส่วนประกอบของโลหะ ซึ่งจะทำให้เกิดสิ่งแปลกปลอมบนภาพได้
- ถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ก็ตาม แต่ถ้าไม่มีความจะเป็นจริงๆ จะไม่ตรวจในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก
ขั้นตอนการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI)
- ผู้ป่วยนอนบนเตียงตรวจและจะมีการติดเครื่องจับสัญญาณแม่เหล็ก (Magnetic Coli) ที่ส่วนต่างๆ ในร่างกายที่ต้องการตรวจ
- ผู้ป่วยจะค่อยๆ เคลื่อนไปยังศูนย์กลางของสนามแม่เหล็ก
- ขณะที่ทำการตรวจจะมีเสียงดังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานของเครืองปกติ
- สำหรับการตรวจบางอวัยวะอาจมีการฉีดสารเพิ่มความแตกต่าง (Contrast Media) เพื่อช่วยให้เห็นภาพอวัยวะชัดเจนยิ่งขึ้น
- ระยะเวลาการตรวจโดยประมาณ 1-3 ชั่วโมง