โรคพาร์กินสันเกิดจากอะไร รักษาหายได้หรือไม่?
เชื่อว่าภาพจำของโรคพาร์กินสันของใครหลายคนคงจะเป็นอาการสั่นของ มูฮัมหมัด อาลี นักชกชื่อก้องโลก ที่โดนโรคพาร์กินสันโจมตีอย่างหนัก แต่หลายคนรู้หรือไม่ว่าโรคพาร์กินสันไม่ใช่พอเป็นปุ๊บจะมีอาการสั่นเลย แต่เป็นอาการทางประสาทที่ส่งผลช้า ๆ และบางครั้งก็แฝงตัวแบบเงียบ ๆ เป็นสิบ ๆ ปี อย่างที่เราคาดไม่ถึง พอถึงช่วงเวลาที่สังขารและสุขภาพของเราเริ่มโรยรา อาการเหล่านี้ก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น และหากว่าเราไม่สนใจอาการก็จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบถึงการใช้ชีวิตประจำวันในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกวันนี้เรายังไม่สามารถรักษาพาร์กินสันให้หายขาดได้ แต่เราสามารถประคับประคองอาการให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติที่สุด
เจาะลึก โรคพาร์กินสันคืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไร?
โรคพาร์กินสัน หรือ Parkinson’s disease คือ โรคในกลุ่มความผิดปกติของระบบการเคลื่อนไหว ที่เกิดจากเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมองเสื่อม ส่งผลต่อการสร้างโดพามีน ซึ่งเป็นทั้งฮอร์โมน (Hormone) และสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ เมื่อโดพามีนลดลง นอกจากจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังส่งผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายอีกด้วย
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเพิ่มมากขึ้น และเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง รองจากโรคอัลไซเมอร์ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยใน 1,000 คนจะมีผู้ป่วย 3 คน และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ ในจำนวนผู้ป่วยพาร์กินสันทั้งหมด มีคนที่อยู่ในวัย 30-40 ปีมากถึง 10%
แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้โดพามีนลดลงได้อย่างแน่ชัด แต่พบปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคพาร์กินสันดังต่อไปนี้
- กรรมพันธุ์ พบว่าผู้ป่วย 10% มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน
- การรับประทานยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยารักษาความผิดปกติทางจิตใจ ยากล่อมประสาท
- สมองถูกกระทบกระเทือน หรือได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
- ความผิดปกติทางสมองอื่น ๆ เช่น สมองขาดออกซิเจน เนื้องอกสมอง หลอดเลือดสมองอุดตัน
เช็กอาการโรคพาร์กินสัน รู้เร็ว ลดความรุนแรงได้
มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน เช่นเดียวกับที่มีทำการวิจัยว่ามูฮัมหมัด อาลี น่าจะป่วยเป็นโรคพาร์กินสันตั้งแต่ช่วงอายุ 30-40 ปี แต่ไม่รู้ตัว และเห็นอาการที่รุนแรงในช่วงอายุที่มากขึ้นนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ การที่รู้ตัวว่าป่วยเร็ว จึงช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยอาการที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้
- อาการทางร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือสั่น รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายช้า การทรงตัวและการเดินผิดปกติ ก้าวเท้าสั้นกว่าเดิม เขียนหนังสือไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม พูดเสียงเบา
- ไม่ค่อยแสดงออกทางสีหน้า กะพริบตาด้วยความถี่ที่น้อยกว่าปกติ
- มีอาการสำลักบ่อยครั้ง น้ำลายไหลโดยไม่มีสาเหตุ
- ความจำไม่ดีเหมือนเดิม คิดช้า
- มีความวิตกกังวลมากขึ้น บางคนอาจจะมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
- นอนหลับไม่สนิทเรื้อรัง
ปกติแล้วจะตรวจพบผู้ป่วยโรคพาร์กินสันตอนช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีที่มีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ควรสังเกตอาการและเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเป็นระยะ เพื่อที่จะบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคพาร์กินสันรักษาไม่หาย แต่บรรเทาความรุนแรงได้
การรักษาพาร์กินสันในปัจจุบันจะเป็นลักษณะของการประคับประคองและบรรเทาอาการไม่ให้มีความรุนแรง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยการรักษาพาร์กินสันในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ ดังนี้
- ใช้ยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมาก ซึ่งมียาหลากหลายชนิด โดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยก่อนที่จะตัดสินใจสั่งยา โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มการทำงานของสารโดพามีน
- การรักษาด้วยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก หากว่าการรักษาพาร์กินสันด้วยยาไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แพทย์อาจจะพิจารณาผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้า เพื่อควบคุมอาการ
สำหรับใครที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ หรือติดต่อ Call Center 02-761-9888