โรคกรดไหลย้อน จัดเป็นภาวะที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน โดยพบว่า มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก
โรคกรดไหลย้อน จัดเป็นภาวะที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน โดยพบว่า มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก
โรคกรดไหลย้อนเกิดจาก การที่มีสารในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมา ไม่เพียงแต่กรดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงน้ำดี แก็ส ที่อยู่ในกระเพาะ อาการจำเพาะที่สามารถพบได้ คือแสบร้อนยอดอก (Heart burn or Retrosternal burning) ซึ่งมักพบมากหลังทานอาหารมัน รสจัด มื้อใหญ่ แอลกอฮอล์ และ เรอเปรี้ยว (Regurgitation)
โดยยังสามารถแบ่งกลุ่มอาการ ได้เป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มอาการของหลอดอาหาร (Esophageal symptom)
จะเป็นแสบร้อนยอดอก เรอเปรี้ยว อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Non cardiac chest pain) และยังมีบางภาวะซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบ หลอดอาหารตีบ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร
- กลุ่มอาการนอกหลอดอาหาร (Extra esophageal symptom)
จะเป็นอาการไอ กล่องเสียงอักเสบ หอบหืด หรือ มีฟันผุ ส่วนอาการนอกจากนี้ เช่น เสียงแหบ จุกแน่นคอ กระแอมบ่อยๆ พบว่ายังอธิบายยืนยันจากโรคกรดไหลย้อนไม่ได้ทั้งหมด จึงต้องมีการสืบค้นหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมจากการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
กลไกการเกิด
- หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง มีการคลายตัวที่มากกว่าปกติ เทียบกับคนทั่วไป
- หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง มีแรงบีบตัว ต่ำกว่าปกติ
- การเพิ่มขึ้นของกระเปาะกรด(Acid pocket) หลังทานอาหารมากกว่าคนปกติ .
- บางภาวะ “ไส้เลื่อนกระบังลม” ซึ่งทำให้บางส่วนของกระเพาะมีการไหลขึ้นไปในช่องอก ได้ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะ หลอดอาหารอักเสบ และ การกลายเป็นมะเร็ง
การวินิจฉัย
1.จากอาการแสบร้อนยอดอก และเรอเปรี้ยว (อย่างน้อย 2ครั้ง /สัปดาห์)
2.มีการตอบสนองต่อยาลดกรด proton pump inhibitors นาน 4-8สัปดาห์
3.การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน โดยมีประโยชน์ดังนี้
- สามารถบอกความรุนแรงของภาวะ หลอดอาหารอักเสบ ได้
- ใช้ประเมินผู้ป่วยในกลุ่มที่มีสัญญาณเตือน เช่น กลืนติด กลืนลำบาก อาเจียนซ้ำๆ ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด หรือน้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ
- ใช้ประเมินโรคที่มีอาการคล้ายกับโรคกรดไหลย้อน เช่น โรคหลอดอาหารอักเสบชนิดอีโอซิโนฟิล
การรักษา
1.การปรับพฤติกรรม
- งดเหล้า และบุหรี่
- คุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
- งดรับประทานอาหารก่อนเข้านอน 3 ชั่วโมง เน้นท่านอนหัวสูงตะแคงซ้าย
- ลดอาหารที่มีความมันหรือรสจัด
2.การใช้ยา
- กลุ่มยาลดกรด ได้แก่ Proton pump inhibitors(PPIs) /Potassium competitive acid blockers(PCABs)
- กลุ่มยาAlginate
- กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ เพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร : Prokinetic
3.การผ่าตัด
จะพิจารณาในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาลดกรดขนาดสูง นาน8-12สัปดาห์ ร่วมกับมีการตรวจพบความผิดปกติ ของการตรวจวัดค่าpHของหลอดอาหาร และ การบีบตัวผิดปกติของหลอดอาหารโดยเครื่องมือเฉพาะ