ในปัจจุบันพบภาวะมีบุตรยากมากขึ้น เนื่องจากคู่สมรสมักแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีบุตรยาก
ในปัจจุบันพบภาวะมีบุตรยากมากขึ้น เนื่องจากคู่สมรสมักแต่งงานเมื่ออายุมากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีบุตรยาก
เมื่อไหร่จึงเรียกว่ามีบุตรยาก?
ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง การที่คู่สมรสนั้นไม่สามารถตั้งครรภ์ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยที่ไม่มีการคุมการกำเนิด และมีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ
สาเหตุของการมีบุตรยาก มีอะไรบ้าง?
พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของการมีบุตรยาก เกิดจากฝ่ายชาย 40% จากฝ่ายหญิงประมาณ 50% อีก 10% ไม่พบสาเหตุของการมีบุตรยาก
ฝ่ายชาย : เกิดจากการสร้างเชื้ออสุจิที่ผิดปกติทั้งคุณภาพ และปริมาณ
ฝ่ายหญิง : เกิดจากความผิดปกติจากการสร้าง หรือการตกไข่ ความผิดปกติของอุ้งเชิงกราน และหลอดมดลูก ความผิดปกติของปากมดลูกและความผิดปกติของช่องคลอด เช่น มีแผ่นกั้นช่องคลอด
ปัจจัยอื่นๆ : การมีเพศสัมพันธ์ห่างเกินไป ความเครียด หรือ โรคประจำตัวทางร่างกายอื่นๆ
การหาสาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก
ควรทำพร้อมกันทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงเพื่อจะได้รักษา และแก้ไขที่สาเหตุได้ถูกต้อง
เมื่อไปพบแพทย์จะต้องผ่านขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
สำหรับฝ่ายหญิง : จะได้รับการซักประวัติโรคประจำตัว ประวัติการเจ็บป่วย การมีประจำเดือน และการมีเพศสัมพันธ์พร้อมทั้งตรวจร่างกายและตรวจเลือดอย่างละเอียด ดูระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง บางรายอาจจำเป็นต้องฉีดสารทึบแสงเอกซเรย์เพื่อตรวจดูโพรงมดลูกและท่อนำไข่ปกติหรือไม่ ทำอัลตร้าซาวด์ หรือส่องกล้องตรวจช่องท้อง หรือส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน การพิจารณาตรวจนั้นแพทย์จะค่อยๆทำไปทีละขั้นตอน
สำหรับฝ่ายชาย : ทำได้ง่าย เพียงตรวจน้ำเชื้อปริมาณ และคุณภาพของตัวอสุจิก็สามารถบอกได้ว่า มีสาเหตุของภาวะมีบุตรยากหรือไม่
หลังตรวจหาสาเหตุแล้วจะมีการรักษาอย่างไรบ้าง?
- ถ้าผลการตรวจทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ แพทย์จะแนะนำให้มีเพศสัมพันธ์กันในช่วงที่มีการตกไข่
- หากพบความผิดปกติก็จะรักษาตามสาเหตุ เช่น
ถ้าไม่มีการตกไข่ ก็จะหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร หากมีระดับฮอร์โมนผิดปกติ ก็จะแก้ไขเรื่อง ภาวะฮอร์โมน หรือให้ยากระตุ้นการตกไข่
ถ้าพบมีการติดเชื้อ ก็ให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อโรค
ถ้าพบว่ามีพังผืดที่มดลูก ท่อนำไข่ หรือรังไข่ก็จะผ่าตัดเลาะพังผืดออก และเนื่องจากท่อน้ำไข่เป็นอวัยวะ ที่มีขนาดเล็กมาก จำเป็นต้องผ่าออกโดยใช่กล้องจุลทรรศน์ และเครื่องมือขนาดเล็ก เพื่อให้ได้ผลดีมากที่สุด
- หากรักษาภาวะผิดปกติแล้ว ยังไม่มีบุตรได้ตามกลไกธรรมชาติอาจจำเป็นต้องพิจารณาใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
ปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
- รอบของการรักษาถูกยกเลิกไป เนื่องจากได้ถุงไข่จำนวนน้อยเกินไปหรือมากเกินไปทำให้รังไข่บวมมีน้ำในช่องท้อง หรือช่องปอด
- ไข่ที่เก็บได้ไม่มีการปฏิสนธิ
- มีการอักเสบติดเชื้อจากการเก็บไข่ หรือใส่ตัวอ่อน
- การตั้งครรภ์แฝด
- การแท้ง ซึ่งมีโอกาสแท้งได้สูงกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย
ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหลังได้รับการรักษา ?
- สามารถปฏิบัติตัวตามสบาย หรือปฏิบัติภารกิจตามปกติได้ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาลบาล
- ไม่ควรยกของหนัก และออกกำลังกายหักโหม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ทุกชนิด
- ลดความวิตกกังวล ความเครียด
- รับประทานยา และใช้ยาตามแพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
- หากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
การเก็บเชื้ออสุจิทำอย่างไร
- ควรงดการหลั่งน้ำเชื้อ 2-3 วัน ก่อนจะถึงวันเก็บน้ำเชื้อ
- ล้างมือและอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนทำการเก็บทุกครั้ง
- ห้ามใช้ถุงยางอนามัยในการเก็บน้ำเชื้อ เนื่องจากถุงยางอนามัยมีน้ำยาหล่อลื่น ซึ่งสามารถทำลายตัวอสุจิได้
- เก็บน้ำเชื้อใส่ภาชนะที่โรงพยาบาลเตรียมให้เท่านั้นเมื่อเก็บได้แล้ว ให้รีบปิดฝา แล้วนำมาส่งห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลภายใน 2 ชั่วโมง (ห้ามใส่ตู้เย็นหรือแช่แข็งมา)
- วีการเก็บน้ำเชื้อที่ดีที่สุด คือ วิธีการช่วยเหลือตัวเอง (Masturbation) แต่ถ้าในกรณีที่ไม่สามารถเก็บน้ำเชื้อด้วยวิธีนี้ได้ ก็สามารถร่วมเพศกับภรรยาได้แต่เมื่อจะหลั่งให้หลั่งข้างนอกใส่ภาชนะที่จัดเตรียมไว้ควรระบุเวลาที่เก็บได้ไว้ที่ภาชนะด้วย
การเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์ หรือ Blasticyst Culture คืออะไร?
คือการเลี้ยงตัวอ่อนภายหลังการเกิดปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ในห้องปฏิบัติการ เป็นระยะเวลาประมาณ 4 วันจากตัวอ่อนระยะ 1 เซลล์ แบ่งตัวเป็น 2 เซลล์ เป็น 4 เซลล์ เป็น 8 เซลล์ เป็น 32 เซลล์ จนมีจำนวนมากกว่า 100 เซลล์ และรวมกันแน่นเป็นก้อนเรียกว่า Compacted Stage Embryo หลังจากนั้นจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ในที่สุด
โดยมีจุดมุ่งหมายของการเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะบลาสโตซิสท์ คือ เป็นตัวอ่อนที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด เป็นระยะที่อยู่ในโพรงมดลูกจริงตามธรรมชาติเมื่อถูกนำกลับคืนเข้าสู่โพรงมดลูกจึงเหมือนกับธรรมชาติมากที่สุด เป็นผลให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงขึ้น
ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นหมันต้องทำอย่างไร?
มีเทคโนโลยีการทำเทเซ่ (Testicular Sperm extraction : TESE) คือ ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นหมันไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อที่หลั่งออกมาเลย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากท่อนำอสุจิอุดตัน ไม่มีท่อนำอสุจิแต่กำเนิด มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ ตัวอสุจิที่หลั่งออกมาตายหมด เคยมีการอักเสบของอัณฑะทำให้มีการสร้างอสุจิน้อยมากวิธีการนี้เป็นการผ่าตัดเล็กๆ และมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก โดยจะตัดเนื้อเยื่อบางส่วนเล็กๆหรือใช้เข็มเล็กๆ ดูดเนื้อเยื่อของอัณฑะมาบดกาตัวอสุจิ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า มักจะมีการสร้างตัวอสุจิ จากนั้นก็ดำเนินการด้วยวิธีอิ๊กซี่ต่อไป
อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีการต่างๆมีมากน้อยเพียงใด?
ความสำเร็จในแต่ละตอนของการรักษาจะแตกต่างกันตามวิธีการ ดังนี้
- การคัดเลือกเชื้ออสุจิฉีดผสมเทียม (IUI) อัตราความสำเร็จประมาณ 10 – 15 %
- การทำกิ๊ฟ เด็กหลอดแก้ว และอิ๊กซี่ อัตราความสำเร็จประมาณ 30 – 60 %
ความสำเร็จในการตั้งครรภ์ นอกจากจะขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี หรือวิธีการแล้ว ความร่วมมือกันของสามีภรรยาในการให้กำลังใจซึ่งกันละกัน ให้ความร่วมมือในการรักษาในขั้นตอนต่างๆร่วมกันมาเป็นเพื่อนภรรยาทุกครั้งที่แพทย์นัดเท่าที่จะทำได้ อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น