โรคสมาธิสั้นคืออะไร

>15 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย นพ. ทรงภูมิ เบญญากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่พบได้ตั้งแต่ในเด็กอายุ 4-5 ปีขึ้นไปและพบได้มากถึงร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียน ซึ่งอาจมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการเรียน เช่น ไม่มีสมาธิ เรียนไม่รู้เรื่อง ทำงานไม่เสร็จ หรือปัญหาทางพฤติกรรม เช่น อยู่ไม่นิ่ง เล่นรุนแรง ดื้อ-ต่อต้าน เป็นต้น

 

โรคสมาธิสั้นเกิดจากความไม่สมดุลของสาร Dopamine และ Norepinephrine  ในสมองที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและจัดลำดับขั้นตอน เชื่อว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์และภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัญหาในการเลี้ยงดูหรือความกดดันจากผู้ปกครองอย่างที่หลายคนเข้าใจ

 

โรคสมาธิสั้นมี 2 กลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มอาการขาดสมาธิ (Inattention) ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นปัญหาการเรียน และกลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง/ หุนหันพันแล่น (Hyperactivity/ Impulsivity) ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นปัญหาพฤติกรรม ทั้งสองกลุ่มอาการนี้เป็นแค่เพียงปัญหาเบื้องต้นที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการในด้านอื่น ๆ เช่น ขาดความมั่นใจในตัวเอง ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวรวมไปถึงโรงเรียนอีกด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องประเมินเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้เพื่อการวินิจฉัยตั้งแต่อายุน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อไป

 

การวินิจฉัยโรคสามารถทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และกุมารแพทย์ทางด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโต แพทย์จะทำการประเมินปัญหาในแต่ละด้านเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องรวมไปถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กมีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้น เช่น โรคทางระบบประสาทอื่น ๆ หรือความวิตกกังวล ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้โดยง่ายผ่านการสัมภาษณ์ผู้ปกครองและเด็กโดยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดหรือเอกซ์เรย์สมองแต่อย่างใด แพทย์อาจมีการประเมินพฤติกรรมที่โรงเรียนจากครูผ่านแบบสอบถามหรือประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) โดยนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาความจำเป็นในเด็กแต่ละรายไป

 

การรักษาโรคสมาธิสั้นประกอบด้วย การปรับพฤติกรรมและการรักษาด้วยยา การปรับพฤติกรรม (Behavioral modification) ในเด็กสมาธิสั้นนั้นสามารถทำได้โดยการกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมดีให้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนและให้แรงจูงใจหรือคำชมเวลาที่เด็กสามารถทำพฤติกรรมดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการปรับพฤติกรรมต้องใช้เวลานานและต้องทำอย่างสม่ำเสมอโดยมีแพทย์คอยให้คำปรึกษาในแต่ละขั้นตอน

 

การรักษาด้วยยาเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากให้ผลรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และสามารถทำควบคู่กับการปรับพฤติกรรมได้ ยารักษาโรคสมาธิสั้นในปัจจุบันมีหลากหลายชนิดซึ่งผลในการรักษาขึ้นกับหลากหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของอาการ กลุ่มอาการของโรค หรือโรคอื่น ๆ ที่สามารถพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น แพทย์จะประเมินความจำเป็นในการใช้ยาอย่างรอบคอบและวางแผนติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องหลังเริ่มใช้ยา

 

ยาเม็ด Methylphenidate เป็นยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการรักษาสมาธิสั้น เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาดี ยาออกฤทธิ์เร็วและใช้ง่าย ระดับยาอยู่ภายในร่างกายประมาณ 4-6 ชั่วโมง การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจะไม่เกิดการสะสมของยาภายในร่างกายและไม่ทำให้ติดยา อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้มีผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร นอนไม่หลับและปวดศีรษะซึ่งเด็กที่ได้รับยาชนิดนี้จำเป็นต้องติดตามอาการเป็นระยะ นอกจากนี้เนื่องจากยาออกฤทธิ์สั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาวันละหลายครั้งเพื่อควบคุมอาการตลอดวัน

 

จากทั้งหมดนี้เห็นได้ว่า โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ เด็กที่เป็นสมาธิสั้นสามารถเรียนในระบบโรงเรียนและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ การวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยทำได้ไม่ยาก ให้ผลดีและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผลที่รุนแรงในอนาคต เช่น หนีโรงเรียนหรือติดยาเสพติด ความเข้าใจตัวโรคอย่างถูกต้องและการรักษาอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับพฤติกรรมและยามีความสำคัญมากต่อผลการรักษา อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือความรักความเอาใจใส่จากผู้ปกครองที่จะช่วยเอาชนะโรคสมาธิสั้นได้

 

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกจิตเวชศาสตร์  ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE