อาการชักจากไข้สูงในเด็กและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

>2 มิ.ย. 2563 | เขียนโดย พญ.ชญานิศ ไตรโสรัส ชำนาญการโรคระบบประสาทในเด็ก

เป็นอาการชักที่เกิดร่วมกับอาการไข้ ในเด็กที่มีอุณหภูมิร่างกาย สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปพบอาการชักจากไข้สูงในเด็ก อายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี ที่ไม่เคยชักโดยไม่มีไข้นำมาก่อนและสาเหตุที่ชักไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อของสมองหรือจากสาเหตุอื่นๆ อาการชักมักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกของไข้ อาการชักมี 2 ชนิด ดังนี้

 

  • ชนิดที่ 1 simple หมายถึง ไข้ร่วมกับชักที่เกิดทั้งตัว ระยะเวลานานไม่เกิน 15 นาที (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 นาที) ไม่มีอาการซึมหรืออ่อนแรง และไม่มีการชักซ้ำใน 24 ชั่วโมง
  • ชนิดที่ 2 complex หมายถึง ไข้ร่วมกับชักที่เกิดเฉพาะที่ หรือระยะเวลานานกว่า 15 นาที หรือมีอาการอ่อนแรง หรือมีชักซ้ำใน 24 ชั่วโมง

 

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเด็กชัก

  • คลายเสื้อผ้าที่รัดออกจากตัวเด็ก และจับนอนตะแคง ให้ศีรษะต่ำเพื่อไม่ให้สำลัก
  • ห้ามใช้วัสดุใดๆงัดปาก และห้ามให้ยาทางปากขณะที่มีอาการชัก
  • รีบเช็ดตัวลดไข้ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำที่อุณหภูมิปกติ (ห้ามใช้น้ำเย็น) บิดพอหมาดเช็ดทุกส่วนของร่างกายอย่าง  ต่อเนื่อง เน้นบริเวณข้อพับต่างๆใช้เวลาอย่างน้อย 15-20 นาที หลังเช็ดตัวจนไข้ลดลงแล้วซับตัวให้แห้ง  ใส่เสื้อผ้าที่เนื้อไม่หนา
  • รีบนำส่งโรงพยาบาล ถ้าชักนานเกิน 5 นาทีจะมีการให้ยาทำให้หยุดชัก (diazepam) ทางทวารหนัก   หรือทางหลอดเลือดดำ

แนวทางการหาสาเหตุของอาการชักในเด็ก

  1. ตรวจน้ำไขสันหลัง เพื่อแยกว่าไม่ใช่การติดเชื้อของสมอง ทำในรายที่มีข้อบ่งชี้
  • อายุน้อยกว่า 12 เดือน มีอาการแสดงที่ผิดปกติเช่น ซึม คอแข็ง กระหม่อมโป่งตึง
  1. ตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติทางเมตาบอลิก เช่นระดับน้ำตาล ระดับเกลือแร่
  2. ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง แนะนำทำในรายที่มีประวัติโรคลมชักในครอบครัว หรือมีอาการชักจากไข้ซ้ำ

หลายครั้ง

 

การดูแลรักษาภาวะชักจากไข้

  • รักษาสาเหตุที่ทำให้มีไข้ และให้ยาลดไข้ร่วมกับเช็ดตัวเพื่อลดไข้
  • ยากันชัก ไม่จำเป็นต้องให้ในภาวะนี้ ยกเว้นพิจารณาให้เมื่อมีภาวะชักจากไข้หลายครั้งหรือคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ ซึ่งยากันชักมีทั้งแบบให้เป็นครั้งคราวเมื่อมีไข้ และให้แบบต่อเนื่อง ขึ้นกับความผิดปกติที่พบและการร่วมตัดสินใจของผู้ปกครอง เนื่องจากยากันชักมีผลข้างเคียงต่อเด็กได้

 

ความเสี่ยงต่อการเกิดชักซ้ำ

ภาวะชักจากไข้เกิดซ้ำได้โดยทั่วไปร้อยละ 20-30 ของเด็กที่ชักจากไข้ครั้งแรก แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 3 ข้อ โอกาสชักซ้ำภายใน 2 ปีจะมากกว่าร้อยละ 60 โดยปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • ชักครั้งแรกก่อนอายุ 12 เดือน
  • มีประวัติชักจากไข้ในพ่อแม่ พี่น้อง
  • ชักภายในชั่วโมงแรกของไข้
  • ชักโดยที่มีไข้ไม่สูงมาก

 

ภาวะชักจากไข้ จะทำให้เกิดอันตรายต่อสมองหรือมีผลต่อสติปัญญาหรือไม่

อาการชักจากไข้สูงในเด็ก มักไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสมอง และไม่ทำให้สติปัญญาเดิมของเด็กแย่ลง ถ้าชักไม่นานเกิน 5 นาที

 

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกกุมารเวช ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE