รพ.สินแพทย์ชี้อย่าประมาท “โรคภูมิแพ้ในเด็ก” ถ้ารุนแรงอาจถึงขั้นหยุดหายใจพึ่งหมอไว้ดีกว่า

>18 มี.ค. 2563 | เขียนโดย รพ. เด็กสินแพทย์

ส่วนที่ 1:

หลายอาการอันเกิดจาก “ภูมิแพ้”

อากาศเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบว่ามีหลายฤดูในวันเดียวกันหรือช่วงเวลาห่างกันไม่กี่ชั่วโมงถือว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดสำหรับผู้คนซึ่งมีสุขภาพร่างกายเป็นปกติดี เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะลมฟ้าอากาศจะแปรปรวนเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝน…ท้องฟ้าปลอดโปร่งหรือขมุกขมัวก็จะไม่ส่งผลกระทบให้ต้องเกิดอาการใด ๆ  ให้ต้องเกิดความอึดอัดไม่สบายตัวแต่อย่างใด…แต่สำหรับผู้คนบางพวกบางกลุ่มแล้วรับรองได้เลยว่าลักษณะอากาศแปรปรวนอย่างที่ว่าจะส่งผลอย่างจังโดยจะเกิดอาการหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น…คัด-คันจมูก จามบ่อยเหมือนกับว่าเป็นหวัดเรื้อรัง หรือมิฉะนั้นก็เป็นหวัดบ่อยเวลานอนก็จะกรนราวกับเปิดโรงงานขณะที่บางรายจะเป็นไซนัสอักเสบบ่อย และบางรายก็มีอาการแน่นหน้าอก ไอ หอบเหนื่อยแบบเป็นๆ หายๆ  ไอมากหลังออกกำลังกายมีประวัติคล้ายปอดอักเสบ ต้องไปพ่นยาที่โรงพยาบาลอยู่เสมอก็มี…บางรายก็ น้ำหนักไม่ขึ้นแม้จะทานอาหารได้ตามปกติ หรือบางรายอาจมีผื่นลมพิษ หรือผื่นแห้ง แดงทำให้ต้องมีภาระในการเกาเพราะไม่อาจทนต่ออาการคันแบบเป็นๆหายๆ เสมือนว่าพกติดตัวไปด้วยทุกหนแห่ง แต่อาการที่รุนแรงกว่านั้นก็ยังมีอีกอย่างเช่น ถ่ายเหลว มีมูกเลือด กินอาหารแล้วอาเจียนหรือถ่ายเหลวมาก ปวดท้องเรื้อรัง!!!…ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ น่าเป็นห่วงและ น่าเห็นใจระคนกันเพราะถึงแม้จะดูด้วยตาก็สามารถรู้สึกได้ถึงความทรมานไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ “เด็ก”

 

บอกได้เลยว่าอาการทั้งหลายแหล่ดังที่ “หมอจอแก้ว” สาธยายมาเป็นเบื้องต้นล้วนเป็นผลจาก “โรคภูมิแพ้” ที่จะออกฤทธิ์เฉพาะกับเด็กที่เป็นภูมิแพ้โดยทำให้ร่างกายของเด็กกลุ่มนี้ตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในเรื่องลมฟ้าอากาศหรือสารที่มีอิทธิพลอย่างใดก็จะทำให้เกิดอาการแตกต่างกันดังที่เอ่ยไว้ โดยอาจเกิดภาวะอักเสบตามอวัยวะที่ได้รับหรือสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดอาการ “ผิดสำแดง” ก็สามารถแสดงออกมาได้หลากหลายระบบแตกต่างกันตามชนิดของโรคภูมิแพ้…จึงต้องขอแสดงความยินดีกับกลุ่มหนูน้อยที่มีสุขภาพร่างกายเป็นปกติดีด้วยเหตุที่“สิ่งกระตุ้น” ทั้งหลายที่ว่ามานี้ไม่มีผลทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองแต่อย่างใดแม้จะอยู่ใกล้ ๆ กันหรือสัมผัสสารกระตุ้นแบบเดียวกับที่ออกฤทธิ์ต่อเด็กที่เป็นภูมิแพ้ด้วยซ้ำ

 

 

ส่วนที่ 2:

รู้ข้อมูลไว้…เพื่อเป็นปราการป้องกันบุตร-หลาน

เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ รพ.เด็กสินแพทย์ จึงได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับ “โรคภูมิแพ้ในเด็ก” มาเสนอใน “อุ่นใจ..ใกล้หมอ” ฉบับประจำวันพุธนี้ โดยมี พญ.ธันยธร พิสิฐบัณฑูรย์ กุมารแพทย์ ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้ และระบบภูมิคุ้มกัน ประจำ รพ.เด็กสินแพทย์เป็นผู้ถ่ายทอดให้กับคุณพ่อ-คุณแม่ตลอดทั้งผู้ปกครองที่มีบุตร-หลานในความดูแลจะได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้อย่างชัดเจนและสามารถรับมือกับอาการอันจะเกิดขึ้นจาก “สิ่งกระตุ้น” อันทรงพลังซึ่งสามารถออกฤทธิ์ได้โดยไม่เลือกเวลาและสถานที่…โดยประเด็นที่ “คุณหมอธันยธร” เปิดฉากกล่าวถึงคือ

 

“เราเรียกสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ว่า สารก่อภูมิแพ้ โดยตัวอย่างสารก่อภูมิแพ้ในอากาศได้แก่ ไรฝุ่น ขนสัตว์ แมลงสาบ เกสรดอกไม้ หญ้า และเชื้อรา สำหรับสารก่อภูมิแพ้ในอาหารที่พบบ่อยได้แก่ โปรตีนในนมวัว ไข่ แป้งสาลี นมถั่วเหลือง และ อาหารทะเล สำหรับ ควันบุหรี่ ความเย็น ความร้อน ฝน หรือความชื้น ไม่ถือว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้ อย่างไรก็ตามในคนที่เป็นภูมิแพ้มักจะตอบสนองไวต่อสิ่งเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไปด้วย…”

 

สำหรับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยจะมีด้วยกันหลายอย่างตั้งแต่ “โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ”ซึ่งครอบคลุมถึงโรคหืด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้…ถัดมาคือ “โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง”ได้แก่ โรคลมพิษ โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้…ตามมาด้วย“โรคภูมิแพ้ทางตา”…“โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ”ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Anaphylaxis…และอีกอย่างคือ “โรคแพ้อาหาร”…และนอกจากจะเอ่ยชื่อหลายโรคให้ทราบแล้ว คุณหมอยังได้สรุปลักษณะอาการของโรคแต่ละอย่างโดยเริ่มจาก “โรคหืด” อันเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปอด หรือทางเดินหายใจส่วนล่าง ทำให้มีการตอบสนองไวต่อสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นอื่น เป็นผลให้เกิดอาการบวม หรือตีบแคบลงของทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด ๆ โดยอาการเหล่านี้มักเป็นๆหายๆ มักมีอาการมากในช่วงกลางคืน อากาศเปลี่ยนฝนตก ร่วมถึงตามหลังการติดเชื้อ อาการของโรคจะคล้ายกับปอดบวม หรือหลอดลมฝอยอักเสบ แต่มีข้อแตกต่างที่ผู้ป่วยโรคหืดมักตอบสนองดีต่อยาขยายหลอดลม ในผู้ป่วยบ้างรายอาจมีอาการแค่เพียงไอ หรือแน่นหน้าอก เฉพาะกลางคืน หรือหลังออกกำลังกายก็ได้…

 

ส่วน “โรคภูมิแพ้ทางตา”หรือชื่อภาษาอังกฤษคือallergic conjunctivitis จะเกิดจากอักเสบของเยื่อตาขาวและใต้เปลือกตาทำให้เกิดอาการคันตา ตาแดง น้ำตาไหล แสบตาบ่อยๆ โดยมักมีอาการช่วงได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่นในคนที่แพ้ไรฝุ่น มักมีอาการช่วงกลางคืน หรือตอนเช้า คนที่แพ้ละอองเกสรหญ้ามักมีอาการในช่วงที่เป็นฤดูที่มีเกสรหญ้ามาก คนที่มีเป็นภูมิแพ้ทางตามักมีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย…จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับเด็กในกลุ่มที่ป่วยด้วยอาการนี้เพราะไม่เหมาะกับการพาไปชื่นชมกับธรรมชาติแสนสวยที่อบอวลด้วยไม้ดอกที่กำลังบานสะพรั่งตามแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับใครต่อใคร…

 

อีกอย่างคือ “โรคผื่นลมพิษ” ซึ่งจะมีลักษณะบวม นูน คัน เริ่มแรกอาจคล้ายตุ่มยุงกัด แต่ต่อมาอาจขยายขนาดขึ้น โดยผื่นแต่ละจุดมักยุบหายภายใน 24 ชั่วโมงแบบไร้ร่องรอยและอาจย้ายไปขึ้นใหม่ที่อื่นได้บางครั้งก็อาจมีอาการหนังตาบวม ปากบวมร่วมด้วยอีก ผื่นนี้จะแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ“ผื่นลมพิษเฉียบพลัน” ซึ่งจะมีอาการไม่เกิน 6 สัปดาห์ และมักเกิดจากการติดเชื้อ การแพ้ยา แพ้อาหาร หรือโดนแมลงกัดต่อย แต่หากเกิดผื่นลมพิษแล้วอยู่นานเกิน 6 สัปดาห์ก็จะถูกจัดอยู่ในชนิดที่ 2 คือ “ผื่นลมพิษเรื้อรัง” ซึ่งมักไม่พบสาเหตุชัดเจน จึงอาจกล่าวได้ว่าต้องอาศัยความสังเกตจากคุณพ่อ-คุณแม่และผู้ปกครองที่คอยดูแลใกล้ชิดเพื่อให้มีข้อสันนิษฐานจากภาวะแวดล้อมรอบตัวบุตรหลานได้บ้าง…นอกจากผื่นลมพิษแล้ว “คุณหมอธันยธร” ยังได้อธิบายถึง“โรคผื่นผิวหนังอักเสบ”หรือatopic dermatitis ซึ่งมักพบได้ตั้งแต่ในวัยทารก โดยผู้ป่วยจะมีผื่น แห้ง คันตามตัว ในเด็กเล็กมักเป็นที่แก้ม และด้านนอกของแขนขา ในเด็กโตมักเป็นบริเวณข้อพับ อาการผื่นจะเป็นๆ หายๆ อาการมักแย่ลงเมื่อรับสารกระตุ้น ในรายที่เป็นมากอาจจะต้องระวังว่ามีอาการแพ้อาหารร่วมด้วยได้…

 

แต่ที่ต้องระวังให้มากคือ “โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ”ชื่อภาษาอังกฤษคือ‘anaphylaxis’ซึ่งเป็นอาการแพ้ที่รุนแรงสามารถทำให้เสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม โดยผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอาการได้มากกว่า 1 ระบบได้แก่ ทางผิวหนัง มักมีผื่นลมพิษ ปากบวม หนังตาบวม…ทางระบบหายใจ จะมีแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หอบเหนื่อย…ระบบทางเดินอาหาร อาจมีปวดท้อง อาเจียนรุนแรง แน่นในลำคอ และทางระบบไหลเวียนเลือด อาจมีอาการความดันโลหิตต่ำ หมดสติจนถึงขึ้นเสียชีวิตได้โดยที่ตัวกระตุ้นซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้แบบรุนแรงชนิดนี้ที่พบบ่อยได้ การแพ้อาหาร แพ้ยา แมลงกัดต่อย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้รุนแรงควรได้รับการแนะนำสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ จึงต้องพกยาสำหรับฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อขาหากพลาดไปสัมผัสกับสิ่งที่แพ้และเกิดอาการขึ้นมา…

 

สุดท้ายคือ“แพ้อาหาร”ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาแพ้โปรตีนในอาหาร ทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ในหลายระบบ เช่น ทางผิวหนัง อาจมีผื่นลักษณะลมพิษ หรือผื่นแห้ง คัน แบบผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ อาการทางระบบหายใจ อาจจะมีหอบ ไอมาก คัดจมูก ทางระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นมูกเลือด หรือในบ้างรายอาจมีอาการแพ้แบบรุนแรงที่มีอาการในหลายระบบก็ได้ ทั้งนี้อาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุของการแพ้ในเด็กที่พบบ่อยได้แก่ นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง อาหารทะเล เป็นต้น

 

 

ส่วนที่3:

การตรวจวินิจฉัยช่วยให้การรักษาสัมฤทธิผล…

หลังจากได้ทราบถึงชนิดของโรคภูมิแพ้ที่มีอย่างหลากหลายแล้วก็มาถึงกระบวนการตรวจวินิจฉัยซึ่ง“คุณหมอธันยธร”กล่าวไว้ว่าจะมีองค์ประกอบหลักที่เป็นมาตรฐานทั่วไปอยู่แล้วโดยต้องอาศัยการซักประวัติกับการตรวจร่างกาย โดยมีการตรวจทางภูมิแพ้มาเป็นส่วนเสริมในการช่วยการวินิจฉัยซึ่งมีทั้งการทดสอบทางผิวหนัง…การตรวจเลือดจำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้…และ…การทดสอบการแพ้ซึ่งหากเป็นการ ทดสอบทางผิวหนัง ก็คือการหยดสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องการทดสอบที่บริเวณหลัง หรือท้องแขนแล้วใช้เข็มหรืออุปกรณ์ในการสะกิดผิวหนัง สะกิดที่บริเวณดังกล่าว โดยแปลผลจากขนาดรอยนูนแดงหลังสะกิดเป็นเวลา 15 นาที การทดสอบด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ ทราบผลเร็ว ค่าใช้จ่ายโดยรวมน้อยกว่ากว่าเจาะเลือด แต่อย่างไรก็ตามมีข้อเสียคือ ผู้ป่วยต้องหยุดยาแก้แพ้การมาทำการทดสอบ 7 วัน และไม่สามารถทำในผู้ป่วยที่มีผื่นบริเวณผิวหนังที่จะใช้ทำการทดสอบ

 

ขณะที่ การตรวจเลือดจำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้จะเป็นการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาระดับภูมิต่อต้านสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด มีข้อดีคือไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้แพ้ สามารถทำในคนที่มีผื่นมากๆ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากการทดสอบการแพ้ แต่มีข้อเสียคือต้องรอนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์จึงจะทราบผล และมีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่แพงขึ้น…แต่วิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดคือ การทดสอบการแพ้ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ได้มากกว่าการทดสอบอื่น โดยอาการแพ้อาจจะเป็นเพียงแค่ผื่นเล็กน้อย จนไปถึงอาการรุนแรง เช่น การแพ้แบบ‘anaphylaxis’จึงจำเป็นต้องทำภายใต้การดูแล และสังเกตุอาการของแพทย์อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันจึงมักใช้ในกรณีที่ประวัติไม่ชัดเจน ตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีอื่นไม่พบ หรือคิดว่าผู้ป่วยมีโอกาสแพ้น้อย หรือหายจากอาการแพ้แล้ว…

 

อีกประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญและ “คุณหมอธันยธร”สาธยายเป็นการปิดท้ายรายการก็คือ…การรักษาโรคภูมิแพ้…โดยหากพูดรวม ๆ ก็จะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก อย่างแรกคือให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรืออาหารที่แพ้ และอีกอย่างคือ การใช้ยา ซึ่งจะแตกต่างไปตามชนิดของภูมิแพ้…แต่ที่สำคัญคือคุณพ่อ-คุณแม่และผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจหากบุตรหลานมีปัญหาหรือเกิดอาการที่เข้าข่าย“โรคภูมิแพ้”ที่มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดตามรายละเอียดที่ได้นำมาเรียงร้อยไว้ใน “อุ่นใจ..ใกล้หมอ” ฉบับนี้โดยหวังให้เป็นข้อมูลความรู้สำหรับทุกครัวเรือนจะได้มีไว้เพื่อดูแลบุตรหลานอันเป็นที่รักให้พ้นจากอันตรายของโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที และที่ต้องไม่ลืมเด็ดขาดคือ “การพึ่งพาหาหมอเฉพาะทาง” เพื่อจะได้มั่นใจในการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่จะช่วยให้บุตรหลานมีความปลอดภัยและห่างจากพิษภัยของ “โรคภูมิแพ้” แม้จะอยู่ในข่ายการเป็นโรคนี้ก็ตาม

 

ย้ำไว้อีกนิดสำหรับอาการที่อาจเกิดกับบุตรหลานและควรพาไปพบหมอภูมิแพ้ ซึ่งอาจมีได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็น…คัด-คันจมูก จามบ่อย…อาการเหมือนเป็นหวัดเรื้อรัง เป็นหวัดบ่อย นอนกรน เป็นไซนัสอักเสบบ่อย…หรือเกิดอาการแน่นหน้าอก ไอ หอบเหนื่อย เป็นๆ หายๆ  ไอมากหลังออกกำลังกายมีประวัติคล้ายปอดอักเสบ ต้องไปพ่นยาที่โรงพยาบาลบ่อยๆ…มิฉะนั้นก็เป็น ผื่นลมพิษ หรือผื่นแห้ง แดง คันเป็นๆหายๆ…  น้ำหนักตัวไม่ขึ้นแม้จะทานอาหารได้ตามปกติ…หรือถ่ายเหลว มีมูกเลือด กินอาหารแล้วอาเจียน…ตลอดจนถ่ายเหลวมาก ปวดท้องเรื้อรัง…อย่าวางใจเด็ดขาด เพราะ อาการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนบ่งชี้ถึง “อันตราย” ที่มีโอกาสตามมาแบบไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้!!!

 

พบแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ (คลิก link เพื่อนัดพบแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

 

 

 

 

 

 

 

 

SHARE