การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

>25 ธ.ค. 2562 | เขียนโดย นางสาวอรอรุณ สุมาลัย พยาบาลวิชาชีพ ประจำห้องเด็กอ่อน

นมแม่ ถือเป็นอาหารที่วิเศษสุดตามธรรมชาติที่สร้างขึ้นมาเพื่อลูกรักตัวน้อยโดยเฉพาะ

 

นมแม่ เป็นอาหารบำรุง มีสารอาหารครบถ้วนทั้งชนิดและปริมาณที่เหมาะสม ทั้งยังมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันโรคได้อย่างดีเยี่ยมเหนือสิ่งอื่นใด

 

ช่วงหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่สามารถให้นมลูกได้อย่างเต็มที่ แต่คุณแม่หลายท่านมักจะไม่มั่นใจและวิตกกังวลว่าตนเองมีน้ำนมไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกลูกจึงไม่ยอมดูดนมตนเอง ทำให้หันไปพึ่งพาการป้อนนมผสมด้วยขวดมากขึ้น รวมถึงอาจมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ หลายประการที่ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในการให้นมแม่

 

พยาบาลจึงมีวิธีทำให้น้ำนมมาเยอะและประสบความสำเร็จมาฝากดังนี้ค่ะ

  1. ดูแลร่างกาย จิตใจและอารมณ์ ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ กินอิ่ม นอนอิ่ม ผ่อนคลาย สบายกาย สบายใจ อารมณ์ดี มีความมุ่งมั่น
  2. มีความเพียรและความสม่ำเสมอ ในการให้นมลูกทุกมื้อ ยกเว้นป่วย
  3. ฝึกทักษะการให้นมให้ถูกมากขึ้น คือคล่อง จนรู้สึกสบาย และเจ็บน้อยลง

 

ปัญหาที่พบบ่อยและวิธีแก้ไข

1.พักผ่อนให้เพียงพอ

เนื่องจากการเฝ้าดูลูกน้อยอยู่ตลอดเวลาหรือมุ่งมั่นกับการให้นมแม่มากเกินไป จนไม่ได้พักผ่อน เนื่องจากลูกตื่นขอดูดนมแม่บ่อยตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะนมแม่มักสร้างไม่เพียงพอในช่วงแรกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการผ่าท้องคลอด

 

แนะนำ  ตัดภาระหน้าที่อื่นๆ แล้วพยายามหาผู้ช่วยทำแทนถ้าเป็นไปได้ เช่น งานบ้าน งาน office โทรศัพท์มือถือ facebook internet จนกว่าแม่จะทำงานที่สำคัญที่สุดคือการผลิตนมแม่ให้เพียงพอ จนลูกอิ่มได้ จึงจะเริ่มทำงานชิ้นอื่นที่สำคัญน้อยกว่านี้ได้ การฝึกให้หลับพร้อมลูก และตื่นพร้อมลูกตามธรรมชาติ จะช่วยให้จังหวะการเลี้ยงลูกเหนื่อยน้อยน้อยลง หากลูกกินบ่อย งอแง อาจเกิดจากการให้นมลูกไม่พอหรือเจ็บป่วย ควรรีบแก้ไข

 

2.ทานอาหารให้หลากหลาย

คุณแม่หลายท่านไม่มีเวลาทานอาหาร จากการที่ต้องดูแลลูกน้อยตลอดเวลา หรือถูกห้ามทานอาหารบางอย่าง

แนะนำ ให้พยายามทานอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ และดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าลืมว่า ถ้าแม่ไม่ทานอาหารก็จะไม่มีน้ำนมให้ลูกเช่นกัน

 

3.ภาวะจิตใจต้องไม่เครียด

ความวิตกกังวลของแม่เกี่ยวกับลูกน้อยจะยับยั้งการสร้างและการหลังของน้ำนมแม่ได้มาก

 

แนะนำ  คุณแม่ควรทำจิตใจให้สงบ อาจเปิดเพลงฟัง จิบน้ำอุ่น น้ำผลไม้ มองหน้าลูก สร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายขณะให้นมลูก

 

4.ให้ลูกดูดนมแม่แบบถูกวิธี

ลูกงับหัวนมไม่ถูกวิธีทำให้ไม่สามารถดึงเอาน้ำนมจากเต้าออกมาได้ ส่งผลให้ลูกปฏิเสธการดูดนมแม่ และส่งผลทำให้หัวนมแตกเป็นแผล หรือมีอาการเจ็บได้

 

แนะนำ ให้ฝึกการงับหัวนมของลูกใหม่ โดยต้องให้งับลึกถึงลานนม ลูกจะดูดโดยแม่ไม่เจ็บเลย และควรได้ยินเสียงกลืนเป็นระยะๆ ถ้ามีน้ำนมพอให้ลูกกลืน รวมถึงอุ้มลูกในท่าที่ถนัด

การงับที่ไม่ถูกวิธีหรือจากการให้ลูกดูดนมแม่แต่ละข้างนานเกินไป อาจส่งผลทำให้หัวนมแตกได้ แนะนำ ฝึกการงับหัวนมของลูกใหม่เมื่อนมแม่มีมากเพียงพอ ( สังเกตจากเมื่อลูกดูด น้ำนมข้างหนึ่งอยู่ จะมีน้ำนมหยดที่นมอีกข้างหนึ่ง ) ในช่วงแรกที่นมแม่ที่ยังไม่มี คือดูดอย่างเดียว แต่ไม่มีเสียงกลืนนม ลูกจะได้แต่ลม แนะนำให้ลูกดูดแค่ข้างละ 5-7 นาที แต่เมื่อน้ำนมมาเยอะ ( สังเกตจากที่ลูกดูดแล้วได้ยินเสียงกลืน สามารถให้ลูกดูดให้เกลี้ยงเต้าได้ ทราบโดยเสียงกลืนหายไป และเร่งความถี่ในการดูดขึ้น )

*การให้นมที่ถูกต้อง แม่ต้องรู้สึกสบาย ผ่อนคลายและไม่เจ็บ

 

ท่าอุ้มให้นมนั้นสำคัญไฉน !

ขณะให้ลูกกินนมนั้นเป็นช่วงเวลาทองที่จะช่วยสงเสริมสร้างความรัก ความผูกพันจากคุณแม่สู้ลูกรักและเพื่อลูกน้อยอิ่มสบายท้อง คุณแม่สบายใจ ลดปัญหาลูกหงุดหงิดจากดูดไม่ได้น้ำนมและปัญหาหัวนมแตกเป็นแผล เนื่องจากการอมหัวนมไม่ถูกที่วิธี

 

เรามีเคล็ดลับแนะนำท่าในการให้นมแบบถูกวิธี ให้ลองนำไปปรับใช้ดังนี้ค่ะ !

  1. ลูกนอนขวางบนตัก (ท่าปกติ) คุณแม่จัดให้ลูกนอนขวางบนตักตะแคงเข้าหาแม่ ท้องลูกแนบชิดกับท้องแม่ ใช้แขนพาดด้านหลังของลูก
  2. ท่านอนขวางตักแบบประยุกต์ ลักษณะจะคล้ายกับท่าที่ 1 เพียงแต่เปลี่ยนมือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูด ประคองเต้านม ส่วนมืออีกข้างคอยรองรับต้นคอและท้ายทอยของลูก ( ท่านี้เหมาะสำหรับนำลูกเข้าหัวนม )
  3. ท่าอุ้มลุกฟุตบอล ท่านี้ลูกจะอยู่ในท่ากึ่งนอนตะแคง กึ่งนอนหงาย คุณแม่ใช้มือจับที่ต้นคอ และท้ายทอยของลูกแล้วกอดตัวลูกกระชับกับสีข้างของแม่ โดยให้ขาลูกชี้ไปทางด้านหลังของแม่ลูกจะดูนมจากเต้านมข้างเดียวกับมือที่จับลูก ท่านี้เหมาะสำหรับคุณแม่หัวนมสั้น ลูกงับไม่ถนัด
  4. ท่านอน ท่านี้ลูกนอนตะแคงเข้าหากัน คุณแม่นอนศีรษะสูงหลังและสพโพกตรง ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมแม่มือที่อยู่ด้านล่างให้ประคองหลังลูกไว้ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านม ในจังหวะที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก เมื่อลูกดูดได้ดีแล้วค่อยๆขยับมือออกได้และควรม้วนผ้าขนหนูมารองไว้ด้านหลังของลุกด้วยท่านี้เหมาะสำหรับคุณแม่ที่อ่อนเพลียมาก นั่งให้นมไม่ไหว รวมทั้งคุณแม่ที่ไม่สามารถนั่งให้นมนานๆ ได้

 

การบีบเก็บน้ำนมให้ลูก

สามารถทำได้หลายวิธีทั้งการบีบด้วยมือ รวมถึงการใช้เครื่องปั๊มนมด้วยมือหรือไฟฟ้า แต่การบีบมือเป็นวิธีการที่ง่าย ประหยัด และสะดวก มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

  1. ระวังเรื่องความสะอาด ล้างมือด้วยสบุ่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนบีบน้ำนม
  2. บีบน้ำนมในบรรยากาศที่สงบ ระหว่างบีบน้ำนมให้นึกถึงลุก หรือดูรูปลูก
  3. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้วางลงบริเวณลานนม หรือห่างจากหัวนมประมาณ 3 ซม.
  4. กดนิ้วทั้งสองเข้าหาลำตัว บีบนิ้วทั้งสองเข้าหากันเหมือนก้ามปู คลายนิ้วเริ่มทำซ้ำใหม่ โดย กด-บีบ-ปล่อย ให้เป็นจังหวะ เปลี่ยนตำแหน่งจนรอบลานนม

 

ใช้ภาชนะที่สะอาดต้มในน้ำเดือดนาน 10 นาที หรือนึ่งนาน 20 นาทีเพื่อรองรับน้ำนมจากนั้นเทใส่อุปกรณ์สำหรับจัดเก็บน้ำนม ซึ่งมีทั้ง

  1. การปั๊มนมที่ถูกต้อง จะต้องไม่ทำให้แม่เจ็บ แต่ทำให้แม่รู้สึกสบายขึ้น หายคัดนม
  2. ถุงเก็บน้ำนม ประหยัดเนื้อที่เก็บ พกพาสะดวก
  3. ขวดนม ขวดแก้วที่มีฝาปิดมิดชิด และผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาแล้ว
  4. เขียนวันที่และเวลาที่บีบเก็บนมแม่ติดไว้ที่ถุงเก็บนมแม่หรือขวดนม จัดเก็บในตู้เย็น ควรแบ่งเก็บให้เพียงพอกับปริมาณที่ลูกกินหมดพอดีในแต่ละมื้อ และจัดวางเรียงลำดับก่อน หลัง เพื่อให้หยิบใช้ได้สะดวก

 

ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่ที่บีบไว้

ระยะเวลาการเก็บ

  1. เก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ( > 25 องศาเซนเซียส) 1-2 ชั่วโมง
  2. เก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง (<25องศาเซนเซียส) 4 ชั่วโมง
  3. เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา (ห้ามเก็บที่ฝาประตูตู้เย็น) 1-2 วัน
  4. เก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นแบบประตูเดียว 2 สัปดาห์-1เดือน
  5. เก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นแบบสองประตู 3 เดือน
  6. นมแม่ที่นำมาอุ่นแล้ว (ลูกยังไม่ได้กิน) 2 ชั่วโมง

 

การนำนมแม่ที่เก็บไว้มาใช้

  • นมที่เก็บในช่องแช่เย็นธรรมดา ให้นำออกมาวางในอุณหภูมิห้อง หรือวางในภาชนะแช่น้ำอุ่น ห้ามอุ่นโดยใช้ไมโครเวฟ หรือต้ม หรืออุ่นด้วยน้ำร้อนจัด
  • นมแม่ที่เก็บในช่องแช่แข็งให้ย้ายมาไว้ในช่องแช่เย็นธรรมดาล่วงหน้า 1 คืน เพื่อให้ละลายก่อนใช้ ( นมแม่ที่ผ่านการละลายแล้วไม่สามารถนำกลับไปแช่แข็งได้อีก)
  • นมแม่ที่อุ่นแล้วและลูกกินไม่หมดให้ทิ้งไปไม่เก็บไว้กินต่อ

 

เมื่อแม่ต้องไปทำงาน…สามารถให้นมลุกได้หรือไม่.?

ได้ค่ะ ! เรามีเทคนิคการเตรียมเพื่อให้ลูกน้อยได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ แม้คุณแม่ต้องไปทำงานมาฝากค่ะ

  1. เตรียมบีบน้ำนมแม่เก็บตุนไว้ใช้ระหว่างเวลาที่แม่ต้องไปทำงาน (เริ่มบีบเก็บได้เลย*เมื่อแม่มีน้ำนมเหลือเฟือ คือคัดเต้านมก่อนที่ลูกจะหิว)
  2. เตรียมผู้เลี้ยงดูขณะที่แม่ไปทำงานนอกบ้าน และฝึกผู้เลี้ยงดูเกี่ยวกับวิธีการป้อนนมแม่ที่บีบเก็บไว้ให้ลูก
  3. เตรียมหามุมที่สะอาดสำหรับการบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน ตู้เย็นสำหรับเก็บน้ำนม และกระติกหรือภาชนะเก็บความเย็นสำหรับขนย้ายน้ำนมกลับบ้าน
  4. เตรียมบริหารตารางการทำงานและการให้นม/บีบเก็บน้ำนม

 

การจัดตารางการให้นมและบีบน้ำนม

  1. กลับมาบ้าน ให้ลูกดูดนมแม่ทุกมื้อเท่าที่ทำได้
  2. เช้า ให้ลูกดูดนมแม่ 2 มื้อ คือ เมื่อตื่นนอน และก่อนออกไปทำงาน
  3. กลางวัน ให้ผู้เลี้ยงดูป้อนนมแม่ที่บีบเก็บไว้ ตามมื้อที่ลูกต้องการ และขณะอยู่ที่ทำงานแม่ควรบีบน้ำนมเก็บไว้ หรือเมื่อรู้สึกคัดเต้านม

 

พบแพทย์เฉพาะทางสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ #คลิ๊กเลย

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์  

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา 

โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์ 

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

SHARE