ภาวะโลหิตจางในเด็กของประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากภาวะของการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) และ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (thalassemia syndrome) ภาวะโลหิตจางจากการ ขาดธาตุเหล็ก พบได้บ่อยใน 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี และ ในวัยรุ่น ได้มีการศึกษาความชุกของภาวะโลหิตจางในเด็กวัยก่อนเรียน อายุต่ำกว่า 6 ปี พบ มีอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ส่วนในเด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี พบร้อยละ 19
ธาตุเหล็กในร่างกาย
ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง สารนี้ทำหน้าที่นำออกซิเจน ไปสู่เนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ถ้าขาดธาตุเหล็กในระดับที่ทำให้การสร้างฮีโมโกลบินลดลงมาก จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ ธาตุเหล็กนอกจากเป็นองค์ประกอบในเม็ดเลือดแดงแล้ว ยังเป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อและเอ็นไซม์ของอวัยวะต่างๆในการทำหน้าที่อื่นๆ นอกจากนี้ร่างกายยังมีระบบการสำรองธาตุเหล็กสะสมในอวัยวะต่างๆ เช่น ไขกระดูก ตับ และ ม้าม ทารกแรกเกิดได้รับธาตุเหล็กจากมารดาผ่านทางรกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังจากคลอดจะได้ธาตุเหล็กจากอาหาร ได้แก่ น้ำนมแม่ และ อาหารอื่นๆ ธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่จะดูดซึมได้ดีมากถึงร้อยละ 50 ของธาตุเหล็กที่มีอยู่ น้ำนมแม่จึงเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ในภาวะปกติจะเพียงพอสำหรับลูกจนถึงอายุ 6 เดือน
ปัจจัยเสี่ยงของการขาดธาตุเหล็ก
ปัจจัยเสี่ยงของการขาดธาตุเหล็กในทารกอายุขวบปีแรก มีดังนี้
ก. ประวัติมารดาก่อนคลอด
- มีภาวะซีดระหว่างตั้งครรภ์
- เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี
- ตั้งครรภ์หลายครั้ง (Multiple gestations)
ข. ประวัติทารก
- น้ำหนักตัวน้อย
- คลอดก่อนกำหนด
ค. การดื่มนม
- ดื่มนมวัว (Cow’s milk)
- ดื่มนมผสมสูตรที่ไม่มีธาตุเหล็กเสริม
- ดื่มนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ได้ธาตุเหล็กเสริม
สาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก
สามารถจำแนกได้ดังนี้
- ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารน้อยเป็นปัญหาที่พบบ่อยในทุกวัย ในเด็กเล็กอายุ 1 – 2 ปีแรก ที่ดื่มแต่นมอย่างเดียวหรือได้นมผสมที่ไม่ได้เสริมธาตุเหล็กหรือได้รับอาหารเสริมช้าจากการเลี้ยงดูไม่ถูกต้อง มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการขาดธาตุเหล็ก ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป การมีนิสัยบริโภคไม่เหมาะสม ได้แก่ ไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์ ไม่ชอบรับประทาน ไข่ เป็นต้น มีโอกาสขาดธาตุเหล็กได้
- ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น ในทารกแรกเกิดที่น้ำหนักตัวน้อย ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนด จะมีธาตุเหล็กที่ได้จากแม่น้อยตามน้ำหนักด้วย ประกอบกับอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าทารกปกติ ในช่วง 6 เดือนแรก จึงต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติ ธาตุเหล็กที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการสร้างเม็ดเลือดแดง จึงทำให้เกิดภาวะซีด ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่อายุเพียง 2-3 เดือน
- การเสียเลือด เช่น มีเลือดกำเดา เลือดออกจากแผลในกระเพราะอาหาร มีพยาธิปากขอ มีประจำเดือนมากผิดปกติ สิ่งเหล่า นี้เป็นสาเหตุของการขาดธาตุเหล็กจนมีอาการซีดได้
การตรวจกรองภาวะซีด
ตรวจดูระดับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin, Hb) และหรือฮีมาโตคริต (Hematocrit, Hct) เพื่อดูภาวะโลหิตจางหรือไม่โดยใช้ค่าของ Hb < 11 g/dL และหรือ Hct < 33% ตามลำดับ การตรวจกรองแยกตามกลุ่มอายุได้ดังต่อไปนี้
อายุ < 1 ปี
– ทารกคลอดปกติให้ตรวจกรองที่อายุ 9-12 เดือน
– ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อย ควรตรวจกรอง ใน 2 ช่วงอายุคือที่อายุ 3 เดือนในกรณีที่ไม่ได้ธาตุเหล็กเสริมหรือ ตรวจกรองที่อายุ 6 เดือน กรณีที่ได้ธาตุเหล็กเสริม
อายุ 1-3 ปี
– เด็กในกลุ่มเสี่ยง เช่น รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อยได้แก่ ดื่ม Cow’s milk มากกว่า 24 ออนซ์ต่อวัน ให้ตรวจกรองที่อายุ 15-18 เดือนและที่อายุ 24 เดือน
การวินิจฉัยภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ประกอบด้วย
- CBC จะพบ Hb < 11 g/dL, Hct < 33%, MCV และ MCH มีค่ำต่ำกว่าเกณฑ์ การดูเสมียร์เลือดจะพบเม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กติดสีจาง (microcytic, hypochromic)
- Serum iron, Total iron biding capacity (TIBC) และ Transferrin saturation ในภาวะขาดเหล็กจะน้อยกว่า 15%
- Serum ferritin จะมีค่าลดลงในภาวะขาดธาตุเหล็กใช้ค่าที่น้อยกว่า 15 ng/mL
ก่อนการตรวจกรองควรซักประวัติอาหารว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงขาดธาตุเหล็กหรือไม่ ถ้าการตรวจกรองพบว่าซีด และไม่สามารถตรวจยืนยันภาวะขาธาตุเหล็กได้ให้พิจารณาให้รับประทานธาตุเหล็กในขนาด 3มก./ก.ก./ วัน (therapeutic trial of iron) เป็นเวลา 1 เดือนแล้วเจาะเลือดตรวจระดับ Hb ถ้าเพิ่มขึ้น 1 กรัม/ดล. หรือ Hct เพิ่มขึ้น 3% ให้ การวินิจฉัยว่าขาดธาตุเหล็กจะต้องให้ธาตุเหล็กต่อไปอีก 2 เดือน แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับ Hb หรือ Hct ให้ ตรวจหาสาเหตุอื่นๆของภาวะซีด ได้แก่ ตรวจ hemoglobin type เพื่อวินิจฉัยธาลัสซีเมีย เนื่องจากมีอุบัติการณ์ของผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียสูงถึงร้อยละ30 และเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียร้อยละ 1
การรักษา
ประกอบด้วย
- การให้ยาธาตุเหล็ก Ferrous sulfate ขนาด 5-2.0 มก./กก./วัน เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ จนระดับฮีโมโกลบิน หรือฮีมาโตคริตขึ้นมาปกติและให้ต่ออีก 2 เดือนนอกจากนี้ การให้ยาธาตุเหล็กจะช่วยให้เจริญอาหารขึ้นด้วย
- ในเด็กน้ำหนักตัวน้อยการรักษาจำเป็นต้องได้รับยาธาตุเหล็กเสริมให้เพียงพอและให้นมเสริมธาตุเหล็ก หลังจากหย่านมแม่ ให้รับประทานอาหารเหมาะสมตามวัยครบห้าหมู่โดยเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงและดูดซึมได้ดี ได้แก่ อาหาร โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อ หมู ปลา ตับ และไข่แดง
- การให้คำแนะนำเรื่องอาหารเป็นส่วนสำคัญในการฝึกเด็กให้ รับประทานอาหารครบห้าหมู่ ประกอบด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ พร้อมทั้งธาตุเหล็กและไวตามินต่างๆควรศึกษาปัญหาการขาดธาตุเหล็ก อาจมีต้นเหตุจากไม่ได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือในวัยรุ่นการจำกัดอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น
- การรักษาสาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก เช่น รักษาโรคกระเพาะอาหารกรณีที่เสียเลือดจากมีแผลในกระเพาะอาหาร หรือให้ยาถ่ายพยาธิปากขอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียเลือดทางลำไส้จากพยาธิ เป็นต้น
ผลกระทบของการขาดธาตุเหล็ก
การขาดธาตุเหล็กมีผลต่อระดับเชาว์ปัญญา (Cognitive function) ซึ่งประเมินจาก IQ test และผลการเรียนวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ พบว่าในเด็กนักเรียนที่ขาดธาตุเหล็กถ้าได้รับการรักษาจนระดับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้น จะทำให้ระดับเชาว์ปัญญาเพิ่มขึ้น
การป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก
- โดยการให้ธาตุเหล็กเสริม (Iron supplement) ขนาด 1 มก./กก./วัน
- ในเด็กอายุขวบปีแรก แนะนำให้งดดื่ม Cow’s milk ในกรณีที่ดื่มนมแม่ให้รับประทานธาตุเหล็กเสริมเมื่ออายุ 4-12 เดือน และเมื่อหย่านมแม่ให้ดื่มนมที่เสริมธาตุเหล็ก
- ในช่วงอายุ 1-2 ปี สามารถป้องกันได้โดยรับประทานอาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กและวิตามิน ซี สูง จำกัดการดื่ม Cow’s milk ไม่เกิน 24 ออนซ์ต่อวัน และรับประทานนมที่มีธาตุเหล็กเสริม
- พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มนมจากขวดเมื่ออายุมากกว่า 1 ปีเนื่องจากการดื่มนมจากขวด (ottle-feeding) เป็นเวลานาน 24-48 เดือน จะมีโอกาสเสี่ยงสูงจากการขาดธาตุเหล็กมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมจากขวด
คำแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรอง ภาวะโลหิตจางด้วยการหาค่าฮีโมโกลบิน และ/หรือค่าฮีมาโตคริต เมื่อเด็กอายุ 15-18 เดือน พร้อมกับการที่เด็กมารับการตรวจสุขภาพและรับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน หรือวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (กระตุ้นครั้งที่ 1) หรืออาจตรวจคัดกรองหนึ่งครั้งช่วงอายุ 2 ปี ในโอกาสที่เด็กมารับการตรวจสุขภาพเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้
คำแนะนำสำหรับการป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
- หลีกเลี่ยงการให้ Cow’s milk ในทารกอายุ 1 ปีแรก
- ทารกคลอดครบกำหนด และดื่มนมสูตรทารกที่เสริมธาตุเหล็กไม่ต้องให้เหล็กเสริม
- ทารกที่คลอดครบกำหนดที่ดื่มนมแม่อย่างเดียว เมื่ออายุ 4- 6 เดือน ให้เสริมธาตุเหล็กในขนาด 1 มก./กก./วัน หรือ ให้ อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็ก (Iron – fortified cereal) เนื่องจากนมแม่มีปริมาณธาตุเหล็กต่ำ แต่การดูดซึมได้ดี
- ทารกที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย ให้เสริมธาตุเหล็ก 2 มก./กก./วัน